บทความวิชาการลำดับ 17
โดย พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ กลิ่นละมัย)
เรื่อง "หาดทรายแก้วสถานที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช"
หาดทรายแก้วเป็นสถานที่เจ้าชายทันตกุมารหรือทนทกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลาหรือเหมชาลา เชื้อสายกษัตริย์ครองแคว้นกลิงราษฎร์ได้นำพาพระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วลงเรือสำเภาหนีข้าศึกไปลังกา แต่เรือสำเภาถูกพายุพัดเข้ามาใกล้ฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย
เจ้าชายและเจ้าหญิงนำพระทันตธาตุซุกไว้ที่มวยผมเดินทางมาทางทิศตะวันออกจนบรรลุฝั่งทะเลตรงกับหาดทรายแก้วแล้วนำพระทันตธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานฝังซ่อนไว้เกือบใจกลางของหาดทราย
หาดทรายแก้วที่ประดิษฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในระยะแรกตัวเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งยาวเหยียดไปทางเหนือและใต้มีสภาพเป็นหาดทรายมีน้ำล้อมรอบอยู่กลางทะเลในโค้งอ่าวของแผ่นดินใหญ่เรียกว่าหาดทรายแก้ว
ทางด้านทิศตะวันออกของหาดทรายแก้วเป็นทะเลเรียกว่า “ทะเลหลวง”
ทุ่งนาเรียกว่านาปยามหรือนาหยาม
ทางด้านทิศตะวันตกประมาณแนวป่าต่อกับทุ่งนาชานเมืองเรียกว่านาปรัง
ซึ่งเป็นแผ่นดินใหญ่ระหว่างหาดทรายแก้วกับฝั่งแผ่นดินใหญ่เป็นผืนนาปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปีเรียกว่านาปรัง
ซึ่งมีน้ำไม่ลึกมากเดินข้ามไปมาได้อย่างสะดวกสบาย
หาดทรายแก้วด้านทิศเหนือจดปากน้ำสิชล ส่วนทางด้านทิศใต้ไปสิ้นสุดที่ฝังแม่น้ำปากพนัง ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่
อนึ่งบนหาดทรายแก้วน่าจะเป็นหาดทรายที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ต้นตุ่ม
แสม โกงกาง ลำพู ลำแพง เป็นต้น ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินทรายผสมดินเลนดินตมริมทะเล บางตอนอาจมีผู้คนอาศัยอยู่เพราะมีการขุดพบขวานหิน
ลูกขัดหิน ลูกขัดหอย ขุดพบกลองมโหระทึกสำริดแบบวัฒนธรรมดองซอน
ซึ่งมีอายุอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 200-500 ขุดพบหอกสำริด
เครื่องมือช่างไม้สำริดที่บ้านพังสิงห์ ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่วนฝั่งแผ่นดินใหญ่น่าจะมีผู้คนอาศัยอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะมักขุดพบของใช้ที่คนก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่
อายุประมาณ 3,000 ปีที่ผ่านมา เช่น ขวานหินขัด (ขวานฟ้า)
ลูกปัดหินกระจัดกระจายไปทั่วตามคลองท่าดี ตำบลกำโลน อำเภอ ลานสกา
และกระจายไปทั่วในหลายตำบลของอำเภอชะอวด ร่อนพิบูลย์ ทุ่งสง ฉวาง และท่าศาลา
เอกสารโบราณได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
ได้แก่ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรยายให้เห็นว่าสถานที่แห่ง นี้คือ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ
หาดทรายแก้วนั้นกว้าง ยาว มีน้ำล้อมรอบ ส่วนตำนานเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรยายให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีลักษณะที่สำคัญคือ
เป็น “โคกหาดซายทะเลรอบ” เป็น “เกาะแก้ว” และเป็น “หาดใหญ่กว้างรีตามริมทะเลที่ๆรอบ” ในขณะที่ พระนิพพานโสตรได้บรรยายให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้ คือ “หาดทรายแก้ว” ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นหาดทรายที่ “เห็นแจ้งแผ้วอยู่แจ่มใส
ป่าอ้อป่าเลาใหญ่ ทรายแววไวที่สำราญ” รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่
“แลดูสะอาด” เป็น “หาดทรายแก้วโสภา” เป็น “หาดทรายใหญ่” มี “แม่น้ำคลองท่า” มีลักษณะ “แจ้งแผ้วน้ำฟ้า” เป็นแหล่ง “ทำนมัสการที่สำคัญของพญานาคและเป็นแหล่งที่มีตำรา”
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำพรรณนาที่สะท้อนให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ตามระบบความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ที่มีความ
“บริสุทธิ์”
หรือเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามระบบความเชื่อของลัทธิไศวนิกายเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวไว้ว่า
“มีในตำรา” เป็นได้
โดยตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ของ
“หาดทรายแก้ว”
แห่งนี้เช่นเดียวกัน
ดังตัวอย่างที่ปรากฏในความบางตอนที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ.1893
ที่ได้กล่าวว่าในครั้งนั้นได้มีการอัญเชิญเทวรูปจากอินเดียมายังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่ออัญเชิญต่อไปยังกรุงศรีอยุธยาได้
เพราะว่าได้ “เกิดอัดจรร
ลมพยุหะพัดเปน หมอกเม้กมืด 7 วัน 7 คืน
แลมายาพระณรายเทวารูป ใหนีฤามิตแต่เจาพญาโกษา วาเราจอยูเมืองณคร เหดดุวาหาดแกวมีสาริกอิศรา ตองเทวาทำนาย จิงอรูวามาญาพระณรายเทวรูปเสด้จอยูเมืองณคร”
ซึ่งข้อความที่ยกมานี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นการสืบต่อระบบความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่
เรียกว่า “หาดแก้ว”หรือ“หาดทรายแก้ว” หรือ “เกาะแก้ว” แห่งนี้แล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงการนำเอา “พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” หรือ“พระบรมสารีริกธาตุ”
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ในพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ไปผูกกันเข้าอย่างแนบแน่นกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ของหาดทรายแก้วหรือราชธานีแห่งอาณาจักรแห่งนี้ด้วย
โดยความศักดิ์สิทธิ์นั้นได้มีการถ่ายโอนจากการแสดงโดยอาศัยพระมหาธาตุองค์เดิม
ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จ (4 สิงหาคม 2477) กล่าวว่า
“...พระมหาธาตุองค์เดิมเหมือนกันกับพระมหาธาตุไชยาพระสถูปที่เป็นพระมหาธาตุเดี๋ยวนี้พวกลังกามาสร้างครอบพระมหาธาตุเดิมแต่ภายหลัง
หลักฐานที่ทูลนี้ได้มาจากพระครูเทพมุนี (ปาน) แกบอกหม่อมฉันว่า
เมื่อซ่อมวิหารพระม้าได้ขุดพื้นดินลงไปพบบันไดพระมหาธาตุเดิมอยู่ใต้ดินเป็นอีกองค์หนึ่งต่างหาก
พิเคราะห์ความนี้ก็สมด้วยเรื่องพงศาวดารที่ปรากฏว่า
พระลังกาที่มาตั้งเมืองนครศรีธรรมราชก่อนและมาสร้างพระสถูปมหาธาตุก็คงเป็นเพราะทางพระมหาธาตุของเดิมมีอยู่ที่นั้น แต่คงจะไม่รู้เรื่องตำนานของพระมหาธาตุเดิม จึงเอาเรื่องทางเมืองลังกามาแสดงว่าพระทันตกุมารและนางเหมชะลา เชิญพระบรมธาตุมาจากเมืองทันตบุรีในอินเดีย......”
จากสาส์นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้แสดงให้เห็นว่าบนหาดทรายแก้วนี้มีพระบรมธาตุเจดีย์เดิมอยู่แล้ว นักวิชาการได้สันนิษฐานไว้ว่าเจดีย์องค์เดิมน่าจะมีสัญลักษณ์ศิลปะแบบพระบรมธาตุไชยาหรือเจดีย์ทรงโอคว่ำศิลปะแบบอินเดีย
ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพให้ช่างย่อส่วนของพระบรมธาตุและเจดีย์รูปโอคว่ำแบบอินเดียมาสร้างไว้ข้างวิหารธรรมศาลา
หน้าประตูเข้าพระวิหารคดในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพื่อให้พิจารณาถึงพระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิมบนหาดทรายแก้วดังกล่าว
ซึ่งในที่สุดพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชหรือศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์หรือศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรนครศรีธรรมราช ได้กลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่แพร่กระจายไปปรากฏขึ้นในสถานที่แห่งอื่นๆ
ภายในสถานที่ที่มีสภาพภูมิประเทศอันศักดิ์สิทธิ์ของหาดทรายแก้วอย่างกว้างขวาง
องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารหรือชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า
“ในพระ” ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เดิมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารมีชื่อว่า “วัดพระบรมธาตุ”
ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาดูแลวัด
ต่อมาเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2485
ทรงมีพระราชดำริว่าวัดพระบรมธาตุควรที่จะมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาดูแลวัดเป็นประจำ
จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จังหวัดนครศรีธรรมราชนิมนต์พระสงฆ์มาอยู่ประจำและพระราชทานนามใหม่ว่า
วัดพระมหาธาตุ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการีลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2458 เรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวงให้เรียกวัดพระบรมธาตุว่าวัดพระมหาธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหารมีเนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน
ทิศเหนือติดกับโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ ทิศใต้ติดกับถนนหน้าพระลาน
ทิศตะวันออกติดกับถนนราชดำเนิน และทิศตะวันตกติดกับถนนพระบรมธาตุ
สรุปว่า
หาดทรายแก้วได้กลายเป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ หลังจากเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมชาลานำพระทันตธาตุหนีลงเรือสำเภามาโดยซุกซ่อนไว้ในมวยผมของเจ้าหญิงเหมชาลา
ขณะหนีเรือสำเภาได้ถูกพายุพัดเข้าฝั่งที่หาดทรายแก้ว
ทั้งสองจึงได้ตัดสินใจฝังพระทันตธาตุไว้ ณ หาดทรายแห่งนี้ที่เกือบใจกลางของหาดทราย
ซึ่งในปัจจุบันสถานที่นั้นตั้งอยู่ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดนี้เป็นอารามหลวงชั้นเอกมีเนื้อที่ประมาณ
31 ไร่ 2 งาน ทิศเหนือติดโรงเรียนพระมหาธาตุ ทิศใต้ติดถนนหน้าพระลาน ทิศตะวันออกติดถนนราชดำเนิน
และทิศตะวันตกติดถนนพระบรมธาตุ
บรรณานุกรม
ดิเรก พรตตะเสน.
“พระพุทธศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราช”. ในรายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์ นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 1.
พิมพ์ครั้งที่ 2. นครศรีธรรมราช : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2554.
ปรีชา นุ่นสุข.
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช :
กรุงสยามการพิมพ์, 2530.
ปรีชา
นุ่นสุข. “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร”. ในนครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์,
2521.
ปรีชา นุ่นสุข. รายงานการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย. คณะกรรมการ วิจัยการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม
กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น