วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช


บทความวิชาการลำดับที่ 14
โดย พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ กลิ่นละมัย)

เรื่อง "ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช"
             พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนหาดทรายแก้ว มีอายุการก่อสร้างนับพันปีและมีประวัติที่ยาวนาน หลักฐานเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มี 2 ประเภท คือ หลักฐานทางเอกสารและหลักฐานทางโบราณคดี จากหลักฐานเหล่านี้จึงกล่าวได้ว่า การกำเนิดพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์กับพุทธประวัติ ตำนานพระเขี้ยวแก้วและคัมภีร์ชินกาลมาลินี  ซึ่งได้กล่าวถึงเจ้าหญิงเหมชาลากับเจ้าชายทนตกุมารอัญเชิญพระทันตธาตุไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา แต่เรือสำเภาโดนพายุแตกเจ้าหญิงและเจ้าชายมาขึ้นฝั่งและฝังพระทันตธาตุไว้บนหาดทรายแก้ว กาลต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างเมืองและสร้างพระบรมธาตุเจดีย์  ในการสร้างครั้งนั้นสันนิษฐานว่า รูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์อาจเป็นศิลปะศรีวิชัย ต่อมาสมัยพระเจ้าจันทรภานุศรีธรรมราชทรงบูรณะและเสริมสร้างให้เป็นรูปทรงศิลปะลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิให้เป็นเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตามรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงกลมแบบลังกามีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ สูงจากพื้นดินถึงปลียอดทองคำประมาณ 37 วา หรือ 55.99 เมตร การดูแลรักษาและบูรณปฏิสังขรณ์จึงเป็นหน้าที่พระครูทั้ง 4 รูป คือ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาเดิม และพระครูกาชาด เจ้าเมืองสิบสองนักษัตร พุทธศาสนิกชนและทางราชการบ้านเมือง จึงทำให้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางเมือง ศูนย์กลางชุมชน และศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคมด้วยความเชื่อและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
            จากการศึกษาที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีความเป็นมา  ที่ยาวนานและซับซ้อนยากที่จะสรุปลงได้อย่างง่ายดาย อาจเป็นเพราะหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีมากมายหลากหลายที่มาที่แตกต่างกันทั้งในส่วนของหลักฐานทางเอกสารและหลักฐานทางโบราณคดี ในส่วนนี้จึงสามารถทำได้เพียงการกล่าวถึงส่วนหนึ่งแห่งความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชโดยสังเขปเท่านั้น  ทั้งนี้เพื่อเป็นพื้นฐานและความสะดวกในการทำความเข้าใจในประเด็นอื่นๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในขั้นต่อไป ในการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในที่นี้อาศัยหลักฐาน 2 ประเภท คือ หลักฐานทางเอกสารและหลักฐานทางโบราณคดี
            1. หลักฐานทางเอกสาร
            ขณะนี้ได้พบเอกสารที่กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  เอกสารโบราณดังกล่าวคือ พระนิพพานโสตร ซึ่งแต่เดิมส่วนหนึ่งของเอกสารโบราณชนิดนี้มักจะเรียกกันว่า ตำนานพระบรมธาตุเมืองคอนฉบับกลอนสวด จากการสนับสนุนของมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศญี่ปุ่น ทำให้ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สามารถเก็บรวบรวม ศึกษา และพิมพ์พระนิพพานโสตรออกมาเผยแพร่
            นอกจากนี้ยังมีเอกสารโบราณที่เป็นหลักฐานขั้นต้นเกี่ยวกับความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชอย่างน้อย 2 รายการ คือ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเอกสารทั้งสองรายการนี้เป็นร้อยแก้ว ในขณะที่พระนิพพานโสตรเป็นร้อยกรอง
            พระนิพพานโสตรตีพิมพ์ครั้งแรกมีชื่อเรียกว่า “ตำนานพระบรมธาตุเมืองนคร” แต่งเป็น กลอนสวด เมื่อปี พ.ศ.2460  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ในคำนำของการตีพิมพ์ครั้งนั้นซึ่งมีเนื้อหาบางตอน ดังนี้

     “...หนังสือเรื่องนี้ ถ้าว่าโดยตำนาน พิเคราะห์เห็นว่าเป็นหนังสือซึ่งกวีชาวนครฯ แต่งในเมืองนครฯ ถ้าประมาณเวลาที่แต่ง เห็นจะราวในรัชกาลที่ ๑ ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้ที่อ่านจะเห็นว่าเรื่องราวหรือสำนวนเร่อร่าอย่างไร ต้องเข้าใจว่าเป็นหนังสือชาวนครฯ แต่งในเมืองนครฯ ตามความที่เขาเชื่อมาอย่างนั้น จะติเตียนหาควรไม่ ถ้าจะว่าเป็นหนังสือดีโดยเอกเทศอันหนึ่งก็สมควร  โดยทำให้ปรากฏฝีปากกากวีชาว นครฯ เห็นจะเป็นเรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พิมพ์ขึ้น...”

            หลังจากปี พ.ศ.2460  พระนิพพานโสตร สำนวนนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งจนปัจจุบันนี้  อาจจะกล่าวได้ว่าตำนานพระธาตุเมืองนครที่แต่งเป็นกลอนสวดกับพระนิพพานโสตรนั้นคือ อันหนึ่งอันเดียวกันและควรเรียกว่าพระนิพพานโสตร นอกจากนี้ได้พบข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวพระนิพพานโสตรซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์แห่งนครศรีธรรมราชอีกหลายประการ
            สำหรับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (ฉบับร้อยแก้ว) ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2471 ในการพิมพ์ครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ได้ทรงพิมพ์คำอธิบายไว้ในบทความบางตอน ดังนี้
     “...หนังสือนี้พิมพ์ตามต้นฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ  เป็นหนังสือฝรั่งเขียนเส้นหมึกต้นฉบับนี้เป็นสำเนาคัดมาจากหนังสือเก่า เห็นได้ตามตัวสะกดและถ้อยคำสำนวน  ซึ่งเก่าก่อนเวลาที่ใช้หมึกและกระดาดอย่างนั้น...
     หนังสือนี้สันนิษฐานว่าแต่งในแผ่นดินพระนารายณ์  ศักราชในที่สุดบอกปีในปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง  ส่วนเนื้อหาซึ่งว่าเป็นตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช ก็เป็นตำนานอย่างนิทานประจำท้องถิ่น มีโน่นปนนี่มากมาย แต่ความจริงอาจมีมาแต่เดิมบ้าง และไม่มีอะไรที่ทำให้เห็นว่าผู้แต่งไม่เชื่อว่าเป็นความจริงทั้งนั้น แม้ที่กล่าวถึงปาฏิหาริย์ต่างๆ และพญาครุฑพญานาคก็กล่าวตามที่เชื่อกันว่าจริง ถ้าจะว่าที่แท้เรื่องพระธาตุปาฏิหาริย์นั้น คนยังเชื่อกันอยู่จนเวลานี้  แต่ถ้าจะตั้งปัญหาว่าหนังสือนี้มีประโยชน์เพียงใด  ในโบราณคดีก็ยากที่ตอบได้ การหาหลักฐานจากโบราณคดี  ถ้าไม่มีอะไรดีกว่านิทานก็ต้องรับเอานิทานเข้าประกอบหนังสือนี้ จึงอาจเป็นประโยชน์ได้บ้างในทางโบราณคดี...”

            ในทำนองเดียวกันหลังปี พ.ศ.2471 ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช สำนวนนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในต่างกรรมต่างวาระกันตราบจนปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีการกล่าวกันว่าได้มีการค้นพบเรื่องนี้อีกหลายสำนวน แต่ไม่ค่อยมีการตีพิมพ์เผยแพร่

            จากเอกสารที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า การกำเนิดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชยึดอยู่กับพระพุทธประวัติอย่างเหนียวแน่น กล่าวคือ ในตอนต้นของเรื่องได้กล่าวถึงการประสูติของพระพุทธองค์แล้วดำเนินเรื่องมาตามลำดับความในพระพุทธประวัติ จวบจนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน จากนั้นจึงกล่าวถึงการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุและการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ ที่ต่างๆ ทั้งบนสวรรค์ ในโลก และนาคพิภพ ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูทรงนิมนต์ให้ พระมหากัสสปะไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมารวมไว้ในที่เดียวกัน โดยรับสั่งให้ขุดหลุมฝังไว้ ณ นครราชคฤห์ในชมพูทวีปแล้วผูกกาภาพยนตร์ไว้รักษา
            เมื่อศักราช 224  พระยาโศกราชหรือธรรมาโศกราชหรือศรีธรรมาโศกราชแห่งนครอินทรปัตถ์ในชมพูทวีป ได้โปรดให้ขุดพระบรมสารีริกธาตุนั้นแจกจ่ายไปยังนครต่างๆ ทั้ง 84,000 นคร ส่วนพระเกษมมหาเถระได้กำบังกายเข้าไปในกองเพลิงในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วอันเชิญพระทันตธาตุออกไปถวายพระเจ้าสิงหราชแห่งนครป่าหมาก (ต่อมาเรียกนครนี้เป็นทนทบุรีหรือทนธบุรี) เป็นเหตุให้กษัตริย์เมืองต่างๆ ยกทัพมาแย่งพระทันตธาตุจากพระเจ้าสิงหราชมิได้ขาด พระสิงหราชทรงอ้างเอาพระพุทธคุณมาปกปักรักษาพระองค์จึงทรงชนะศึกทุกคราว แต่ในครั้งสุดท้ายข้าศึกได้รวมตัวกันโดยกษัตริย์ 5 พระองค์เข้าประชิดเมือง ด้วยทรงหวังจะแย่งพระทันตธาตุเช่นเดียวกัน พระเจ้าสิงหราชทรงคาดการณ์ว่ายากจะเอาชนะได้ จึงรับสั่งให้พระราชธิดาคือ เจ้าหญิงเหมชาลาและราชโอรสคือเจ้าชายทนตกุมารหรือทนธกุมาร อัญเชิญพระทันตธาตุลงกำปั่นหนีไปลังกาเพื่อถวายพระทันตธาตุแด่พระเจ้ากรุงลังกา เพราะได้มาทูลขอหลายครั้งแล้วแต่พระเจ้าสิงหราชมิได้ประทานไป ในที่สุดเหตุการณ์เป็นไปดังที่พระองค์ทรงคาดไว้คือ พระเจ้าสิงหราชสวรรคตในการศึกครั้งนั้น
            เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนตกุมารลงเรือกำปั่นไปลังกา โดยซ่อนพระทันตธาตุไว้ในเกศาของพระนางเหมชาลา แต่เรือกำปั่นแตกเพราะถูกพายุ ทั้งสองได้ขึ้นฝั่ง ณ หาดทรายแก้ว แล้วฝังพระทันตธาตุไว้ ณ ที่นั้น ท้าวนาคาได้มาพบพระทันตธาตุที่ฝังไว้นั้นจึงอัญเชิญไปกรุงนาคา พระมหาเถรพรหมเทพได้ไปอัญเชิญกลับมาคืนแก่สองกุมาร สองกุมารได้อัญเชิญพระทันตธาตุนั้นต่อไปยังลังกาโดยเรือกำปั่นของพ่อค้าที่ผ่านมา ขณะเดินทางท้าวนาคาได้บันดาลให้เรือถูกพายุเพราะหมายจะแย่งพระทันตธาตุอีก แต่พระมหาเถรพรหมเทพมาปราบได้ ทำให้เรือกำปั่นเดินทางมาถึงลังกาด้วยสวัสดิภาพ

            เมื่อมาขึ้นฝั่งแล้วเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนตกุมารได้เข้าเฝ้าพระสังฆราชแห่งลังกา ณ โลหปราสาท  พระสังฆราชจึงจัดให้พักที่นั้น ตกตอนกลางคืนพระทันตธาตุได้แผ่ฉัพพรรณรังสี ทำให้พระสังฆราชทราบข้อเท็จจริงโดยตลอด จึงมีพุทธฎีกาให้เจ้าเณรซึ่งสำเร็จพระอรหันต์ไปกราบบังคมทูลให้กษัตริย์ลังกาทราบ พระเจ้าทศคามมุนี (อาจจะหมายถึงพระเจ้าทุฏฐคามณีกษัตริย์แห่งลังกา ซึ่งครองกรุงอนุราธปุระระหว่างปีพุทธศักราช 382-406) ได้เสด็จมารับพระทันตธาตุ ณ  โลหปราสาท แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง จากนั้นจึงทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นประดิษฐานพระทันตธาตุและรับสั่งให้ผูกกาภาพยนตร์ไว้รักษา
            พระเจ้าทศคามุนีทรงทราบพระพุทธทำนายว่าในศักราช 700 เศษ พระเจ้าธรรมโศกราชแห่งหาดทรายแก้ว จะทรงแจกพระบรมสารีริกธาตุ จึงรับสั่งให้เจ้าเณรไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 2 ทะนานมาจากท้าวนาคา  ประทานให้เจ้าหญิงเหมชาลา เจ้าชายทนตกุมาร  พระราชครูและบริวาร อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้ว พร้อมด้วยเครื่องพุทธบูชามากมาย และทรงมีพระราชสาส์นไปยังกษัตริย์ทั้ง 5 แห่งทนทบุรีเพื่อฝากฝัง 2 กุมารด้วย เมื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ หาดทรายแก้วพร้อมผูกกาภาพยนตร์ไว้รักษาเรียบร้อยแล้ว  เจ้าหญิงเหมชาลาและคณะก็เดินทางต่อไปยังทนทบุรี
            พระเจ้าธรรมโศกราช (โศกราชหรือศรีธรรมโศกหรือธรรมโศกราชหรือศรีธรรมโศกราช) แห่งเมืองเอาวราช (อวดีหรือสวัสดีราช) พร้อมด้วยพระนนทราชา พระอนุชาได้ทรงอพยพผู้คนหนี ไข้ห่าลงมาทางใต้มาตั้งถิ่นฐานที่เขาชวาปราบ เวียงสระ เขาวัง ลานตะกา (ลานตอกาหรือลานสกา) และหาดทรายแก้วตามลำดับ  แม้ว่าจะทรงอพยพผู้คนหนีไข้ห่าบ่อยครั้งก็ไม่สามารถหนีไข้ห่าได้  จนต้องทำพิธีทำเงินตรา “น โม” เพื่อแก้ไข้ห่าตามคำของพระอรหันต์ เมื่อทรงแก้ไข้ห่าได้สำเร็จก็รับสั่งให้เตรียมการขุดพระบรมสารีริกธาตุ ณ หาดทรายแก้ว  โดยมีเจ้ากากภาษาจากเมืองโรมพิสัยเป็นผู้ช่วยเหลือในการแก้ภาพยนตร์ซึ่งเฝ้าอยู่ที่ตึกอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้เทวดาและท้าวนาคาได้ช่วยในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและสร้างเมือง ณ หาดทรายแก้วจนสำเร็จ
            ในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้มีหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งมวลมาช่วยเหลือ หากเมืองใดมาไม่ทันการก่อสร้างก็ได้ฝังทรัพย์ที่นำมาเป็นพุทธบูชานั้นไว้ตามที่ต่างๆ โดยทั่วไป นอกจากนี้พระเจ้ากรุงลังกาและเจ้าเมืองหงสาก็ได้มาช่วยด้วยเพราะเห็นว่าเป็นพระญาติกัน ฝ่ายพระเจ้ากรุงลังกานั้นมาช่วยเหลือเพราะทรงทราบจากพระพุทธทำนายว่าในศักราช 700 เศษ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งหาดทรายแก้วจะทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุและสร้างพระบรมธาตุเจดีย์อีกโสดหนึ่งด้วย (ปรีชา นุ่นสุข, 2530 : 6-9)
            จากการที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จ เป็นเหตุให้มีหัวเมืองน้อยใหญ่มากมายมาเป็นเมืองขึ้นในรูปของเมือง 12 นักษัตร ทำให้พระเจ้าอู่ทองหรือท้าวอู่ทองแห่งกรุงทนบุรี (ทนทบุรีหรือทนธบุรี) ทราบข่าวนี้มีความไม่พอพระทัยอย่างยิ่งจึงรับสั่งให้ราชทูตถือพระราชสาส์นมากราบทูลให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเฝ้า  แต่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงไม่ยินยอมที่จะเข้าเฝ้าเพราะทรงเห็นว่าพระองค์มิได้อยู่ภายใต้อำนาจของท้าวอู่ทองแต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะทรงกระทำเช่นนั้น  ในที่สุดจึงได้เกิดศึกระหว่างพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกับท้าวอู่ทอง ไพร่พลล้มตายมากมาย พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงรำพึงว่าพระองค์ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสำเร็จนับเป็นกุศลมาก ไม่ควรที่จะมาก่อเวรกรรมเพราะการศึกเช่นนี้ จึงรับสั่งให้เจรจาศึกแล้วแบ่งดินแดนกับท้าวอู่ทองพร้อมได้สัญญาเป็นมิตรไมตรีต่อกันสืบไป อย่างไรก็ตามเอกสารแต่ละสำนวนอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น บางสำนวนกล่าวว่า
     “...เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมโศกราชก็สร้างการลง ณ หาดทรายแก้วชเลรอบเป็นเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุครั้งนั้น  แลยังมีพระสิหิงค์ล่องชเลมาแต่เมืองลังกามายังเกาะปีนัง แลพ้นมาถึงหาดทรายแก้วที่จะก่อพระมหาธาตุนั้น...”  
            ส่วนวิธีที่ใช้ในการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บนหาดทรายแก้วเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่เจ้ากากภาษาให้ขุดและอัญเชิญออกจากตึกที่มีกาภาพยนตร์เฝ้าอยู่นั้น  เอกสารโบราณเหล่านี้ส่วนใหญ่กล่าวไว้ตรงกันคือ เมื่อได้ภูมิชัยแล้วเจ้ากากภาษาให้ขุดหลุมขนาดกว้าง ยาวและลึกเท่ากัน คือ 8 วา รองพื้นด้วยศิลาขนาดใหญ่อย่างมั่นคง ทำสระลูกหนึ่งด้วยปูนเพชร ขนาดกว้างและลึก 2 วา เอาสิ่งต่างๆ ที่กษัตริย์ลังกาเคยถวายมาแต่ต้น คือ แม่ขันที่บรรจุน้ำพิษพญานาคและมีเรือสำเภาทองซึ่งบรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุลอยอยู่ในแม่ขันนั้น ลอยลงในสระ นำเครื่องพุทธบูชาลงไปวางไว้ให้หามตุ่มที่บรรจุทองคำขนาดตุ่มละ 38 คนหาม ลงไปทั้ง 4 ตุ่ม วางไว้ที่มุมสระมุมละใบ เจ้ากากภาษาอุทิศว่าอย่าให้น้ำในสระเหือดแห้ง ธูปเทียนดอกไม้อย่าสูญหาย ขอให้ยืนยงอยู่จนศักราช 5,000 เจ้ากากภาษาผูกภาพยนตร์ด้วยเวทมนต์คาถาเป็นยักษ์ คน ครุฑ นาค สิงห์ โค ม้าและช้าง เป็นต้น
            เมื่อผูกภาพยนตร์ตามตำราแล้วเจ้ากากภาษาก็ขึ้นมาให้วัดออกไปจากฐานนั้นข้างละ 8 วา ขุดลึกลงไป 4 วาครึ่ง ปักศิลาอย่างมั่นคงคือลึก 6 วา ทั้ง 8 ด้าน  ระหว่างศิลาแต่ละเสาให้ก่ออิฐสูง 4 วา ระหว่างเสาศิลาแต่ละต้นกับสระให้เรียบอิฐ ถัดจากเสาศิลาออกไปให้เรียบอิฐอย่างเรียบร้อยทุกต้น ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์  ถัดจากองค์ปรางขึ้นไปใช้ศิลาอย่างแข็งแรง ถัดจากประทุมโกศขึ้นไปใช้เหล็กอย่างมั่นคงจนสุดยอด  พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้สูง 1 เส้น 15 วา 3 ศอก ภายในบรรจุแก้วแหวนเงินทองนานาชนิดที่มีผู้นำมาบูชา ที่ยอดประดับด้วยดวงแก้วที่พญานาคเคยนำมาบูชาพระบรมสารีริกธาตุแล้วพรานสุรีเก็บมาถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ข้างนอกใช้ปูนฉาบทำพระอรหันต์ ยืนไหว้รอบพระบรมธาตุทั้ง 8 ทิศ ทิศละองค์  ส่วนที่อาสน์ของพระบรมธาตุเจดีย์ทำเป็นช้างล่อหัว จากนั้นจึงทำบันไดขึ้นสู่พระบรมธาตุเจดีย์นั้น  ส่วนหัวเมืองน้อยใหญ่ได้ช่วยกันสร้างเสริมพระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธรูปและวิหารต่างๆ มาโดยลำดับ

            2. หลักฐานทางโบราณคดี
            การศึกษาทางด้านโบราณคดีเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชยังมีน้อย จนยากที่จะกล่าวถึงพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ในทางโบราณคดี จึงมักจะออกมาในรูปแบบของการสันนิษฐานเป็นส่วนใหญ่ อาทิเช่น เมื่อปี พ.ศ.2469 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงมีพระดำริไว้ว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช (องค์เดิม) ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราชนั้นเป็นศิลปะสมัยศรีวิชัย มีอายุระหว่างปี พ.ศ.1200-1400 ทรงสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนามหายาน โบราณสถานในสมัยศรีวิชัยมักจะมีรูปทรงเป็นมณฑปมีหลังคาเป็นสถูปและใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ได้แก่ พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น  ส่วนมณฑปที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อาจจะได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรศรีวิชัย
            เมื่อปี พ.ศ.2474 นายเจ วาย คลายส์ (J.Y. Claeys) ได้เห็นด้วยกับสมมติฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่าด้วยพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช (องค์เดิม) เป็นสถาปัตยกรรมทรงมณฑปมีหลังคาทรงสถูปและสันนิษฐานว่าสถูปจำลองห้ายอด ซึ่งตั้งอยู่ติดกับระเบียงคดด้านทิศตะวันออกของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนั้น เป็นต้นแบบของพระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิมที่อยู่ภายในพระบรมธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบัน
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.2512 ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลีเย่ (Jean Boisselier) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ดังนี้
     “...พระเจดีย์ซึ่งสร้างอยู่ใกล้ทางเข้าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับการพรรณนาอย่างละเอียดจากนายแคลซผู้ได้ให้ภาพวาดไว้ด้วย ตามการค้นคว้าซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้แนะ เจดีย์องค์นี้อาจจะเป็นรูปจำลองของเจดีย์องค์ประกอบดั้งเดิมของวัดนี้ และเจดีย์องค์ประกอบดั้งเดิมนี้ก็คงเหมือนกับเจดีย์องค์อื่นๆ คือ ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่ก็เชื่อตามที่นายแคลซได้ กล่าวไว้ว่า ไม่มีอะไรที่ทำให้น่าเชื่อได้ว่าเจดีย์องค์จำลองนี้เหมือนกับเจดีย์องค์ดั้งเดิมอย่างแท้จริง คือ คงจะไม่ใกล้เคียงเท่ากับรูปจำลองที่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเจดีย์เดิมยังคงแลเห็นได้อยู่เมื่อมีการสร้างองค์จำลองขึ้นที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช การบูรณะครั้งสุดท้ายได้กระทำเมื่อเจดีย์องค์เดิมได้รับการบูรณะไปเสียมากแล้ว และคงจะได้รับการเปลี่ยนแปลงรูปไปเสียมากแล้วด้วย  โดยเฉพาะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓  คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสวรรคตใน พ.ศ.๒๒๙๙  เชื่อกันว่าในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญแก่ทางเข้า พระสถูปใหญ่ ซึ่งมีสถูปเล็กๆ ตั้งอยู่ที่มุมลานชั้นบน  คำพรรณนาของนายลูเนต์ เดอ  ลาจองกิแยร์ ได้ให้ไว้ใน พ.ศ.๒๔๕๒ และ ๒๔๕๕ เกี่ยวกับเจดีย์พระบรมธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงใช้ได้ดีอยู่ แม้ว่าท่านจะไม่ได้ให้ภาพวาดไว้ด้วยก็ตาม ชั้นล่างของเจดีย์ซึ่งประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมเล็กน้อย  มีระเบียงเครื่องไม้มุงล้อมรอบ ทำให้นึกไปถึงศิลปะทวารวดีซึ่งมีซุ้มอยู่ระหว่างเสา แต่ ณ ที่นี้ก็มีส่วนหน้าของรูปช้างเข้ามาประกอบ ด้านบนของซุ้มรูปช้างมีวงโค้งคล้ายคลึงกับเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี สำหรับซุ้มที่มีพระพุทธรูปและรูปเทวดาบนเสาติดกับผนังนั้นคงเป็นสิ่งที่มาต่อเติมขึ้นในภายหลัง ลายลวดบัวฐานไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศิลปะทวารวดีและก็คงจะประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ น่าเสียดายที่ปูนปั้นที่หุ้มอยู่ทำให้ไม่อาจแลเห็นอิฐหรือวิธีเรียงอิฐได้...”
            ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิส ดิศกุล ทรงมีพระดำริว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชองค์ปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์กิริเวเหระ เมืองโปโลนนารุวะของประเทศศรีลังกา ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ดังความตอนหนึ่งว่า
     “...ได้เข้าไปในบริเวณซึ่งมีชื่อว่า อาฬาหนะปริเวณ (Alahanaparivena) วัดนี้  พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชทรงสร้างอีก ได้แต่เฉพาะเจดีย์กิริเวเหระ ซึ่งกล่าวกันว่ามเหสีของพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชทรงสร้างเป็นเจดีย์สูงใหญ่ มีฐานประดับด้วยลายบัว ๓ ชั้น องค์ระฆังเป็นรูปโอคว่ำ แล้วจึงบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมมีลายขัดแตะและธรรมจักรประกอบ เหนือนั้นเป็นส่วนที่คอดเข้าไปแล้วจึงถึงปล้องไฉน มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระบรมธาตุที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช...”
            ส่วนรองศาสตราจารย์ศรีศักร วิลลิโภดม ได้กล่าวว่า เมืองนครศรีธรรมราชอาจเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา แต่โบราณสถานและโบราณวัตถุในเขตเมืองจำนวนมากมีมาก่อนการตั้งเมืองเพราะว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนมาแต่เดิมและได้กล่าวถึงพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ดังนี้
     “...แม้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้จะเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา  ซึ่งพงศาวดารว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้มองซิเออร์ เดอ ลามา ชาวฝรั่งเศสเป็นนายช่างก่อสร้าง แต่บรรดาโบราณสถานวัตถุในเขตเมืองนี้ก็มีเป็นจำนวนมากที่มีมาก่อนอายุของเมือง ทั้งนี้เพราะบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนมาแต่ดั้งเดิม โบราณสถานที่เห็นได้ชัด คือ พระเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระสถูปองค์นี้ แม้ว่าจะมีผู้กล่าวว่าเป็นของที่สร้างคลุมสถูปองค์เดิมภายในก็ตาม แต่ลักษณะก็เป็นของเก่าแก่และเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลของพระเจดีย์แบบลังกา ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า พระเจดีย์องค์นี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราช (กระหม่อมโคก) ยังเป็นราชธานีของภาคใต้อยู่ ลักษณะของพระเจดีย์ในระยะแรกๆ นั้น เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม มีเจดีย์เล็กประดับที่มุมทั้งสี่ และรอบๆ ฐานประดับด้วยช้างโพล่หัวออกมาจากซุ้มพระเจดีย์นี้ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองของเมืองนครศรีธรรมราช เพราะได้กลายเป็นแบบอย่างให้แก่พระสถูปเจดีย์อีกหลายๆ องค์ ซึ่งสร้างขึ้นมาในสมัยหลังๆ จนทุกวันนี้  ในทำนองเดียวกันกับพระเจดีย์บรมธาตุไชยา  พระเจดีย์พระธาตุนครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ที่ทรงอิทธิพลในทางศิลปสถาปัตยกรรมไปยังเจดีย์ในเขตต่างๆ ทางภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย...”
            จากการศึกษาเอกสารตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช พระนิพพานโสตร และแนวคิดของนักปราชญ์ นักวิชาการที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมารูปแบบ วิวัฒนาการและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชที่เริ่มตั้งแต่การนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานบนหาดทรายแก้ว การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  การบูรณะและเสริมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกา ตลอดจนการบูรณปฏิสังขรณ์ของพุทธศาสนิกชนและทางราชการบ้านเมืองดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน
            สรุปว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสร้างขึ้นบนหาดทรายแก้วเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีอายุการก่อสร้างนับพันปีและมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานซับซ้อนยากที่จะสรุปได้ เพราะหลักฐานที่เกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีมากมาย ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิง 2 ประเภท คือ หลักฐานทางเอกสารและหลักฐานทางโบราณคดี จากหลักฐานทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่าการกำเนิดพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสัมพันธ์กับพุทธประวัติ ตำนานพระเขี้ยวแก้ว และคัมภีร์ชินกาลมาลินีอย่างเหนียวแน่น ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีขององค์พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีน้อยจนยากที่จะกล่าวถึง จึงมักออกกมาในรูปแบบของการสันนิษฐานเป็นส่วนใหญ่

บรรณานุกรม
ปรีชา นุ่นสุข. พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช : กรุงสยามการพิมพ์, 2530.
ปรีชา นุ่นสุข. “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร”. ในนครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2521.
ปรีชา นุ่นสุข. “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร”. ในรัตนธัชมุนีอนุสรณ์. กรุงเทพมหานคร :  กรุงสยามการพิมพ์. 2523.
ปรีชา นุ่นสุข. พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร : กรุงสยามการพิมพ์, 2530.
ปรีชา นุ่นสุข. ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช : พัฒนาการของรัฐบนคาบสมุทรไทยในพุทธศตวรรษที่ 11-19.  
            วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.
ปรีชา นุ่นสุข. รายงานการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย.  
            คณะกรรมการวิจัยการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.
พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย. การศึกษาบทบาททางการปกครองของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช : กรณีศึกษาจาก  
            ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบันฑิต บัณฑิตวิทยาลัย :
            มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2549.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น