บทความวิชาการลำดับที่ 13
โดยพระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ กลิ่นละมัย)
เรื่อง "พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชกับการเกิดขึ้นของประเพณีท้องถิ่นภาคใต้"
พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้ามาสู่เมืองนครศรีธรรมราชประมาณพุทธศตวรรษที่
17 เป็นต้นมาและได้ตั้งมั่นลงอย่างมั่นคงสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อวัฒนธรรมต่างๆ
ในเมืองนครศรีธรรมราชมาโดยตลอด
จนกระทั่งพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นเส้นโลหิตใหญ่ของวัฒนธรรมของคนบนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ความเชื่อ (beliefs)
ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เป็นความเชื่อที่ผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นและลัทธิศาสนาอื่นๆ
อย่างกลมกลืน อันเนื่องจากคนในท้องถิ่นมีความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดา
สิ่งเหนือธรรมชาติ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เมื่อรับนับถือพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ไม่ได้ละทิ้งความเชื่อเดิม แต่ได้นำเอาความเชื่อเดิมเข้ามาปฏิบัติผสมผสานกลมกลืนกับความเชื่อของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
ดังที่ได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่คนในเมือง
นครศรีธรรมราชได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายอย่างและเป็นระบบความเชื่อที่มีเสน่ห์ในการร้อยรัดเอาสถาบันต่างๆ
ในสังคมให้มาอยู่รวมกันภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
ความเชื่อเหล่านั้นได้นำไปสู่พิธีกรรม (rituals)
ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
จึงทำให้พิธีกรรมมีบทบาทและความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนเมืองนครศรีธรรมราช เพราะพิธีกรรมได้กำหนดแนวคิด
หลักธรรม ความเชื่อ ความรู้สึก และการปฏิบัติร่วมกันที่ได้สืบทอดต่อๆ
กันมาอย่างกลมกลืนทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
จึงได้กลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
ดังนี้
1.
ประเพณีการบวช เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เมืองนครศรีธรรมราช
โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง
พิธีการบวชได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ สร้างวัด ก่อพระพุทธรูป
พระภิกษุจากลังกาสอนสวดมนต์ไหว้พระและบวชกุลบุตร พิธีการบวชในช่วงแรกสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มบวชกันบริเวณรอบๆ
องค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่เปรียบเสมือนองค์พระพุทธเจ้า
ส่วนสถานที่ทำสังฆกรรมในการอุปสมบทนั้นน่าจะเป็นพระวิหารหลวงหรือในแม่น้ำหรือทะเล
เมื่อพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เผยแผ่ออกไปสู่ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน และเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชได้มีการสร้างวัดเพิ่มขึ้นตามชุมชน
พิธีการบวชจึงได้เกิดขึ้นตามวัดในชุมชนและบางส่วนได้เดินทางมาบวชเพื่อบูชาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
ดังเช่น การเดินทางมาบวชบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ของชาวพุทธในภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย
และสิงคโปร์ เป็นต้น
พิธีการบวชมีความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมของชาวบ้านกับพิธีกรรมของสงฆ์
พิธีกรรมของชาวบ้านได้แก่ พิธีโกนหัวนาค พิธีทำขวัญนาค พิธีแห่นาค เป็นต้น ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับสงฆ์ได้แก่ พิธีบวชและสังฆกรรมภายในอุโบสถของสงฆ์
เป็นต้น พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มีจุดหมายในการบวชเพื่อบรรลุธรรมและดำเนินตามรอยพระศาสดา
การบวชในสมัยพุทธกาลจึงเป็นการเดินตามรอย พระพุทธองค์อย่างแท้จริง เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขาตลอดชีวิต แต่ในสมัยหลังมาแม้ว่ามีการบวชเพื่อเดินตามรอยพระศาสดาและบวชชั่วคราวมีการลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตอย่างฆราวาสที่มีคุณค่ามากกว่าคนทั่วๆ
ไป
การบวชตามประเพณีที่สืบต่อกันมาในเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสิบสองนักษัตรมีจุดมุ่งหมายเพื่อสืบทอดประเพณีและสนองคุณของผู้มีพระคุณที่เชื่อว่าการบวชของลูกหลานทำให้ได้รับอานิสงค์เหนือกว่าการประกอบการบุญอื่นๆ
รวมทั้งจะได้เป็นคนสุกมีวิชาความรู้ใส่ตัวและมีครอบครัวต่อไป
ผู้ชายเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่มักจะให้บวชเรียน
การเลือกวัดเพื่อการบวชนั้น
พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่มักจะนำบุตรไปหาพระสงฆ์เจ้าอาวาสที่วัดใกล้บ้านหรือวัดที่ตนเคยเลื่อมใสบูรณะและบำรุงกันมา
โดยถือว่าเมื่อบรรพบุรุษทำนุบำรุงวัดใด ลูกหลานก็ต้องทำนุบำรุงต่อไป ด้วยการฝากตัวต่อเจ้าอาวาสวัดนั้น
กุลบุตรต้องกราบลาญาติมิตรให้เรียบร้อยแล้วไปหาสมภารด้วยตนเอง มักจะไปในวันพฤหัสบดีซึ่งถือว่าเป็นวันครูและต้องเตรียมเครื่องบูชาไปด้วย
การปฏิบัติในระยะเตรียมตัวเพื่อการบวชเรียนนี้ต้องเคร่งครัดมาก เพราะต้องเตรียมชีวิตให้คล้ายกับนักบวชมากที่สุดและใช้เวลาก่อนการบวชประมาณสองถึงสี่เดือน
ชาวบ้านมักจะเรียกกุลบุตรเหล่านี้ว่าเด็กวัดใหญ่
ครั้นในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษาหรือแรม
1 ค่ำ เดือน 8
กุลบุตรมักจะเข้าพิธีกรรมการบวชโดยพร้อมเพรียงกันในวันเดียวกัน
หากว่าบวชวัดเดียวกันการเตรียมการบวชไม่แตกต่างจากพิธีอื่นๆ มากนัก ซึ่งในอดีตผู้ที่บวชมักจะบวชจำพรรษาอยู่หลายๆ
พรรษา แต่ในปัจจุบันนิยมบวชในระยะเวลาสั้นๆ ไม่จำพรรษา
จึงสามารถเตรียมตัวบวชได้ตลอดทั้งปี อาหารมักจะเป็นผลผลิตมาจากท้องถิ่น
แขกที่มาร่วมงานมักนำผลผลิตมาร่วมบุญและช่วยงานบวชด้วย ในตอนเย็นก่อนวันบวชมักจะมีการโกนผมผู้บวชจากนั้นมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เป็นชุดเฉพาะสำหรับบุคคล
ผู้บวชเรียกว่า “ชุดนาค” ผู้บวชเรียกว่า “เจ้านาค” ตอนเย็นมีพิธีสงฆ์เรียกว่า “สวดผ้าและหมอทำขวัญนาค”
ผู้บวชเรียกว่า “ชุดนาค” ผู้บวชเรียกว่า “เจ้านาค” ตอนเย็นมีพิธีสงฆ์เรียกว่า “สวดผ้าและหมอทำขวัญนาค”
วันรุ่งขึ้นมีการแห่นาคและผ้าไตรจีวรไปยังวัดที่จะประกอบพิธีบวช
สำหรับผู้ที่มาบวชบูชาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชจะต้องเดินมาตอนใกล้รุ่งในวันบวช
ถ้าเป็นผู้บวชในประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์จะเดินทางมาเป็นคณะมาพักที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อนถึงพิธีบวช
1 วัน เมื่อบวชแล้วก็ได้เดินทางกลับ
พิธีการบวชเมื่อเดินทางมาถึงวัดที่จะบวชก็เวียนรอบอุโบสถหรือพระวิหารหลวงแบบทักษิณาวัตรสามรอบ
บูชาพัทสีมาและกรวดน้ำหน้าอุโบสถหรือพระวิหารหลวงแล้วนำเจ้านาคเข้าสู่อุโบสถ
เพื่อประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทหรือพิธีสงฆ์จนการอุปสมบทนั้นสำเร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือว่ามีความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ภิกษุผู้บวชใหม่จะต้องมีพระภิกษุที่เป็นพระพี่เลี้ยงหรือเจ้าอาวาสคอยแนะนำสั่งสอนพระธรรมวินัยและธรรมเนียมสงฆ์เพื่อเตรียมตัวเข้าพรรษาของพระภิกษุผู้บวชใหม่
2. ประเพณีให้ทานไฟ
เป็นประเพณีที่ได้เกิดขึ้นรอบๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
เนื่องจากหาดทรายแก้วสถานที่ประดิษฐานขององค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง
ในช่วงระยะเวลาน้ำหลากท่วมนาทุ่งหยามด้านทิศตะวันออกและทุ่งนาปรังด้านทิศตะวันตกของหาดทรายแก้ว
ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวและควายนำมาเลี้ยงบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงในเวลากลางคืนนอนเฝ้าวัวและควายที่วัดรอบๆ
องค์พระบรมธาตุเจดีย์ อาทิเช่น วัดหน้าพระลาน วัดหน้าพระบรมธาตุ วัดท้าวโคตร เป็นต้น
กลางคืนอากาศหนาวเนื่องจากฤดูฝนกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปคนเลี้ยงวัวและควายเหล่านั้นได้ก่อกองไฟผิงและต้มยาธาตุ
ตลอดจนสนทนาธรรมกับพระภิกษุในวัดนั้นๆ
ตอนเช้านำเผือกมันมาเผาให้สุกนำไปถวายพระภิกษุในตอนเช้าทุกวัน
ชาวบ้านในบริเวณวัดเหล่านั้นเห็นว่าเป็นการดีที่อากาศหนาวเย็นได้ถวายอาหารร้อนแก่พระภิกษุ
จึงได้ปรุงอาหาร ขนมต่างๆ มาจากบ้านทุกเช้ามาถวายพระภิกษุ ต่อมาชาวบ้านเหล่านั้นได้นำอาหารและขนมต่างๆ
มาปรุงที่วัดเพื่อถวายพระภิกษุร้อนๆ การถวายอาหารร้อนๆ
ในตอนเช้าแก่พระภิกษุได้แพร่กระจายออกไปจำนวนหลายวัดรอบๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์
ประเพณีให้ทานไฟเป็นการทำบุญในเดือนอ้ายและยี่
(ธันวาคม-มกราคม)
มีกระแสลมมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาอากาศหนาวเย็นจากทางภาคเหนือที่มาจากทะเลจีนใต้มายังเมืองนครศรีธรรมราชและภาคใต้ จึงทำให้คนเมืองนครศรีธรรมราชหนาวเย็น บางปีหนาวมากต้องก่อกองไฟผิงในตอนเช้ามืด
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ วัดจึงได้ก่อกองไฟให้พระภิกษุผิงไฟและนำอาหาร ขนมต่างๆ
มาปรุงถวายพระภิกษุฉันในตอนเช้าเป็นประจำทุกวัน
โดยที่พระภิกษุเหล่านั้นไม่ต้องบิณฑบาตในท่ามกลางอากาศหนาวในช่วงระยะเวลานี้ ต่อมาเมื่อเป็นประเพณีให้ทานไฟประจำปีของเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้มีการจัดประเพณีทานไฟขึ้นทุกวัดที่อยู่รายรอบทั้งใกล้ทั้งไกลองค์พระบรมธาตุเจดีย์
แต่ละวัดจัดเพียงครั้งเดียวเท่านั้นและมีการก่อกองไฟเพียงกองเดียวเท่านั้น โดยที่คณะชาวบ้านนำอาหาร ขนมต่างๆ
มาปรุงถวายพระสงฆ์ฉันร้อนๆ ที่ลานวัด เรียกว่า “ให้ทานไฟ”หรือ “การถวายทานไฟ”
ขนมที่นิยมปรุงถวายพระสงฆ์คือ
ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมกรอก ขนมจู่จุน กล้วยทอด กล้วยแขก ข้าวเหนียวกวนทอด ขนมม้า
ขนมด้วง ขนมรังแตนรังต่อ ขนมปะดา ขนมโค ขนมกรุบ ข้าวเกรียบปากหม้อและอื่นๆ
ซึ่งเป็นประเภทนึ่ง-ทอด-เผา ด้วยเตาไฟ
อันจะให้ทั้งความร้อนความอบอุ่นและเป็นอาหารกินได้ไปพร้อมกัน โดยแยกก่อกองไฟออกเป็นกองๆ
ปูเสื่อนิมนต์พระสงฆ์มานั่งฉัน ข้างกองไฟ ชาวเมืองนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญให้ทานไฟกันเสมอทุกปี
เช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดหน้าพระบรมธาตุ วัดท้าวโคตร วัดชายนา วัดสวนหลวง
วัดชะเมา วัดหัวอิฐ เป็นต้น
ซึ่งถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่และดีงามน่าศรัทธาที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน
3. ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู
เป็นประเพณีที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรและพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางของความศักดิ์สิทธิ์
โดยอาศัยความเชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธประวัติตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสยาคูแก่พระมหาบุรุษ
เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสยาคูแล้วทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
พุทธศาสนิกชนชาวเมืองนครศรีธรรมราชมีความเชื่อว่าเป็นการทำบุญในเวลาที่ต้นข้าวออกรวงเป็นน้ำนม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา ข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ผู้ที่ได้รับประทานมีความเชื่อสมองดีจะเกิดปัญญา
มีอายุยืน สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ ผิวพรรณผ่องใสและเป็นโอสถขนานเอกที่สามารถขจัดโรคร้ายได้ทุกชนิด
ทั้งสามารถบันดาลความสำเร็จให้ในสิ่งที่คิดที่หวังแก่ผู้บริโภค
ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคูเป็นพิธีการหนึ่งในงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
วันมาฆบูชา เพ็ญเดือนสามของทุกปี ข้าวยาคูหรือข้าวยาโค ปัจจุบันนิยมกวนข้าวยาโคกันในวันขึ้น
13 และ 14 ค่ำ เดือน 3
วัดที่กวนข้าวมธุปายาสยาคู เช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดท้าวโคตร วัดชายนา
วัดบุญนารอบ วัดส่วนป่าน เป็นต้น การกวนข้าวมธุปายาสยาคูจะต้องมีพิธีการ ดังนี้
1) สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาว
สมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวนข้าวมธุปายาสยาโค
เพื่อความบริสุทธิ์และเป็นสิริมงคล
2) พระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถาในขณะที่เริ่มกวนข้าวมธุปายาสยาโค
ซึ่งผูกด้ายสายสิญจน์โยงจากพระสงฆ์ผูกไว้ที่ไม้กวนหรือไม้พาย
3)
พิธีกวน สาวพรหมจารีจับไม้กวน มีการลั่นฆ้องชัยหรือโห่สามลา พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาตั้งแต่เริ่มพิธีกวนจนสวดจบถือว่าเสร็จพิธี ต่อจากนั้นพุทธศาสนิกชนช่วยกันกวนข้าวยาโค
4) วิธีกวนข้าวมธุปายาสยาโคใช้เวลาในการกวนข้าวประมาณ 8-9 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จและจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเริ่มเหนียวจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ข้าวยาโค
จะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อกวนเสร็จและมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ
4) วิธีกวนข้าวมธุปายาสยาโคใช้เวลาในการกวนข้าวประมาณ 8-9 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จและจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเริ่มเหนียวจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ข้าวยาโค
จะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อกวนเสร็จและมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ
การกวนข้าวมธุปายาสยาโคหรือข้าวทิพย์หรือข้าววิเศษนี้ โดยการนำอาหารชนิดต่างๆ มารวมเคี่ยวกวนเข้าด้วยกันในกระทะขนาดใหญ่ประมาณ
50 ชนิด เช่น น้ำนมข้าว ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว
ทุเรียน กล้วย เผือก มัน มะพร้าว นม น้ำตาล น้ำผึ้ง เป็นต้น เคี่ยวกวนจนเข้ากันจนแห้งเหนียวแล้วโรยเครื่องราโกฐและเครื่องยาทั้งหลายที่บดละเอียดลงไปในกระทะเป็นอันว่าข้าวมธุปายาสยาคูเสร็จสมบูรณ์ นำไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ฉันและแจกจ่ายประชาชนให้บริโภคได้
4.
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ เป็นประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินทองตามศรัทธา
นำเงินที่ได้รับบริจาคนั้นไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเข้าให้เป็นแถบยาวนับพันหลาแล้วพากันแห่ผ้าดังกล่าวไปที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพื่อนำผ้านั้นไปพันโอบรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์และสมโภชพระเจดีย์ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวถึงที่มาของประเพณีนี้ว่าเกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย
ประมาณปี พ.ศ.1773 ซึ่งตรงกับสมัยกษัตริย์สามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าจันทรภานุ และพระเจ้าพงษาสุระ
กำลังดำเนินการสมโภชพระธาตุอยู่นั้นคลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง
ซึ่งมีลายเขียนเรื่องพระพุทธประวัติ เรียกว่า “ผ้าพระบฏ”
ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง
ก่อนที่จะถึงวันสมโภชพระธาตุไม่นาน ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นไปถวายพระเจ้า
ศรีธรรมาโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้าพระบฏ เมื่อซักผ้าพระบฏแล้วปรากฏภาพเขียน พระพุทธประวัติที่สมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของจึงได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจำนวน 100 คน มาจากเมืองหงสาวดีซึ่งมีผขาวอริยพงษ์เป็นหัวหน้าคณะจะเดินทางไปลังกา เพื่อนำผ้าพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทในลังกาแต่เรือสำเภาโดนพายุที่ชายฝั่งเมืองนครศรีธรรมราช มีคนรอดชีวิต 10 คน รวมทั้งหัวหน้า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่า พระบฏนั้นควรจะนำไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครศรีธรรมราชมาจนทุกวันนี้
ศรีธรรมาโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้าพระบฏ เมื่อซักผ้าพระบฏแล้วปรากฏภาพเขียน พระพุทธประวัติที่สมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของจึงได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจำนวน 100 คน มาจากเมืองหงสาวดีซึ่งมีผขาวอริยพงษ์เป็นหัวหน้าคณะจะเดินทางไปลังกา เพื่อนำผ้าพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทในลังกาแต่เรือสำเภาโดนพายุที่ชายฝั่งเมืองนครศรีธรรมราช มีคนรอดชีวิต 10 คน รวมทั้งหัวหน้า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่า พระบฏนั้นควรจะนำไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครศรีธรรมราชมาจนทุกวันนี้
ตามตำนานที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่า
การแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุประจำปี แต่ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่ากระทำในวันใด
อาจเปลี่ยนแปลงกำหนดวันไปตามความเหมาะสมทุกๆ ปีก็เป็นได้
ตามปกติแล้วพระยานครและทายาทเป็นผู้กระทำประเพณีนี้เป็นประจำทุกปี
โดยการจัดพิธีแห่แหนผ้าพระบฏพร้อมด้วยอาหารหวานคาว เครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นๆ
ไปถวายพระสงฆ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
โดยการหาบคอนไปเป็นขบวนแห่อันสวยงาม
ในโอกาสนี้ชาวนครศรีธรรมราชจะมาร่วมกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปี ครั้นสมัยพระยานครทางราชการได้เปลี่ยนระเบียบวิธีบริหารราชการเสียใหม่
แต่ทางทายาทของพระยานครก็ยังปฏิบัติประเพณีนี้ต่อมาเช่นเดิม ครั้นหลังการเปลี่ยนการปกครองปี พ.ศ.2475
ชาวเมืองก็ได้จัดประเพณี
แห่ผ้าขึ้นธาตุทุกปีและมีจำนวนผู้คนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี เช่นกัน
แห่ผ้าขึ้นธาตุทุกปีและมีจำนวนผู้คนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี เช่นกัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีหลักฐานว่าประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุได้กระทำในวันวิสาขบูชา
วันเพ็ญเดือนหก ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ในวันดังกล่าวมีการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์และมีพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์
ชาวเมืองและประชาชนจากต่างจังหวัดเดินทางมาร่วมสักการะพระบรมธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชประสงค์ให้พุทธศาสนิกชนจัดพิธีทางพระพุทธศาสนาในวันมาฆบูชา
วันเพ็ญเดือนสาม ให้มีการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์อีกวันหนึ่ง ประชาชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาสู่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
เพื่อสักการะองค์พระบรมธาตุเจดีย์เช่นเดียวกับวันวิสาขบูชา
ประชาชนที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองได้นำผ้ามาแห่ขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์อีกด้วย
ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณซึ่งถือว่าถ้าได้ทำบุญต่อพระพุทธองค์โดยตรงหรือใกล้ชิดกับพระพุทธองค์มากที่สุดจะได้บุญมาก
พระบรมธาตุเจดีย์จึงเป็นเสมือนพระพุทธองค์ประชาชนจึงมาสักการะจากทั่วทุกสารทิศ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันนี้ได้เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม
เพราะแต่เดิมผ้าพระบฏมีช่างผู้ชำนาญเขียนภาพสีเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ประกอบด้วยลูกปัดสีต่างๆ แพรพรรณและดอกไม้ที่ขอบแถบผ้าโดยตลอดทั้งผืน
แต่ปัจจุบันผ้าที่ใช้แห่ขึ้นธาตุมีเพียง 3 สี คือ แดง ขาว และเหลือง อาหาร
เครื่องอุปโภคและบริโภคไม่มี
แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำกันโดยพร้อมเพรียงขบวนเดียว ต่อมาประชาชนมาจากหลายทิศทางและเตรียมผ้ามาเอง
จึงทำให้การแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำไม่พร้อมเพรียงกัน
ใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็สามารถทำได้ตามความสะดวก
การบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วยการแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ปัจจุบันได้มีการแห่ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี การแห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติ เป็นต้น
นอกจากการแห่ห่มพระบรมธาตุเจดีย์ในประเพณีแล้วอาจมีในโอกาสอื่นๆ เช่น
ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช
อาทิเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือบุคคลสำคัญอื่นๆ เป็นต้น
เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแล้วก็แห่ทักษิณาวัตรรอบองค์ พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบ
แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารทรงม้าหรือวิหารพระม้าเป็นวิหารที่มีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้ว
ล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ คณะผู้ร่วมขบวนแห่จะส่งตัวแทน 3-4 คน และเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าพระบฏหรือผ้าห่มขึ้นโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์
ดังนั้นประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงเป็นประเพณีที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองนครศรีธรรมราชและชาวเมืองใกล้ไกลที่ยึดเอาพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งทางใจ
รวมพลังศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจของชาวเมืองนครศรีธรรมราชและพุทธศาสนิกชนต่างเมืองเข้าด้วยกัน
หล่อหลอมความเป็นปึกแผ่นมั่นคงสืบมาช้านาน
5.
ประเพณีตักบาตรธูปเทียน เป็นประเพณีที่คู่มากับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร แม้ว่ารูปแบบจะแตกต่างออกไปจากประเพณีดั้งเดิมบ้างก็ตามประเพณีตักบาตรธูปเทียนเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
เพราะประเพณีนี้เป็นประเพณีถวายสังฆทานเนื่องในโอกาสเข้าพรรษา
คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด ซึ่งเชื่อกันว่าประเพณีนี้ได้ถ่ายทอดไปสู่กรุงสุโขทัย
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรกแล้วเข้าไปสู่กรุงสุโขทัย
ดังหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1
ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงประเพณีเข้าพรรษาในสุโขทัยว่ามีการจุดประทีปบูชา พระบรมธาตุ พระพุทธรูป และถวายสังฆทานเป็นประจำทุกปี
สังฆทานที่ถวายมีหลายอย่าง เช่น เทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องบริขารอื่นๆ เช่น
เสื่อ อาสนะ ยารักษาโรค ตั่งเตียง และดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น ในเมืองนครศรีธรรมราชเช่นกันเมื่อถึงวันเข้าพรรษามีพิธีการทำนองเดียวกันกับที่ปรากฏ
ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์แทบทุกประการ จะผิดไปบ้างก็ในรูปแบบเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา
ชาวเมืองนครศรีธรรมราชต่างพากันไปชุมนุมที่วัดใกล้บ้านเพื่อนำเทียนจำนำพรรษาไปถวายพระสงฆ์
นอกจากนั้นมีดอกไม้ธูปเทียน ผ้าอาบน้ำฝน
ตั่ง เตียง ตะเกียง ยาและอาหารที่เป็นของแห้งอีกหลายชนิด
ประเพณีนี้เดิมทีจัดที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ตั้งแต่สมัยที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
พอถึงวันเข้าพรรษาชาวเมืองนครศรีธรรมราชนำเอาเครื่องสังฆทานเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ครั้นถึงระยะที่มีพระสงฆ์ประจำที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแล้ว
การจัดพิธีนี้ก็ยังคงเดิมเนื่องจากคนไปทำบุญมีเป็นจำนวนมาก
ทำให้บริขารที่พระสงฆ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารรับถวายมามีมากขึ้น จนวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารใช้ตลอดพรรษาก็ไม่หมดสิ้น
ชาวเมืองนครศรีธรรมราชเห็นว่าธูปเทียนเหล่านั้นจะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ก็แบ่งปันไปให้วัดต่างๆ
ที่ได้รับถวายไปน้อยในระยะเวลาต่อมา
วันเข้าพรรษาแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เวลาช่วงบ่ายประมาณ 14.00 น. เป็นต้นไป พระสงฆ์จากวัดต่างๆ
ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารมากนักทั้งในเมืองและนอกเมืองต่างมาพร้อมกันโดยยืนเรียงกันเป็นแถวยาวที่หน้าวิหารทับเกษตร
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อรอรับบิณฑบาตดอกไม้ธูปเทียนด้วยย่ามในแขนขวา
ชาวเมืองนครศรีธรรมราชนำธูปเทียน ดอกไม้มัดเป็นช่อๆ ซึ่งใส่ถาดเตรียมไว้ถวายพระสงฆ์เหล่านั้นโดยใส่ลงในย่ามไปตามลำดับรูปละมัดเรียกว่า
“การตักบาตรธูปเทียน”
เมื่อตักบาตรธูปเทียนแล้วชาวเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมใจกันไปจุดเปรียงหรือจองเปรียง
ซึ่งเป็นพิธีอย่างหนึ่งของพราหมณ์
เป็นพิธีจุดโคมรับเทพเจ้า ชาวพุทธรับมาทำในวันเพ็ญเดือนสิบสอง
เพื่อบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ และพระพุทธรูป ตามหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ทุกด้านภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารโดยวิธีการง่ายๆ
ด้วยการนำด้ายดิบใส่ลงในเปลือกหอยแครงหรือภาชนะเล็กๆ หยดน้ำมันสัตว์หรือน้ำมันมะพร้าวลงในเปลือกหอยแครงจุดไฟที่ด้าย
ไฟจะสว่างไปทั่ววิหารและฐานเจดีย์ทุกด้านในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ประเพณีตักบาตรธูปเทียนของชาวเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิมมาหลายประการ
ดังนี้
ประการแรก
เดิมพระสงฆ์เข้าแถวเพื่อรอรับบิณฑบาตธูปเทียนที่หน้าวิหารทับเกษตร
แต่ปัจจุบันพระสงฆ์จะเข้าแถวรอรับบิณฑบาตธูปเทียนที่ลานโพธิ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ประการที่สอง
การตักบาตรธูปเทียนจะจัดที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารอย่างเดิม
แต่มีการตักบาตรธูปเทียนตามถนนหนทางทั่วไปอีกด้วย
ประการที่สาม
เดิมชาวเมืองต้องเตรียมดอกไม้ธูปเทียนไว้พร้อมสำหรับการตักบาตรด้วยตนเอง
โดยที่ดอกไม้ประดิษฐ์ขึ้นเองด้วยวัสดุมิใช่ดอกไม้จริงทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่เหี่ยวแห้งตลอดพรรษา
ปัจจุบันนี้ทั้งดอกไม้และธูปเทียนมีผู้จัดวางขายสำหรับประเพณีการตักบาตรธูปเทียน
ประการที่สี่
เดิมเมื่อตักบาตรธูปเทียนแล้วพุทธศาสนิกชนบูชาพระบรมธาตุเจดีย์และพระพุทธรูปโดยการจุดเปรียง
ปัจจุบันมีการจุดเทียนไขแทนการจุดเปรียงเพราะการจุดเปรียงทำให้เกิดไฟไหม้ภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นประจำ
ประการที่ห้า
เดิมการจุดเปรียงกระทำทั่วไปทุกวิหารและฐานพระเจดีย์
ปัจจุบันการจุดเทียนไขได้กำหนดให้จุดได้เฉพาะที่ภายในวิหารพระม้าหรือสถานที่ที่ทางวัดกำหนดไว้เท่านั้น
ประการสุดท้าย
เดิมการจุดเปรียงถือเป็นประเพณีที่ทุกคนต้องกระทำหลังจากตักบาตร
ธูปเทียน แต่ปัจจุบันประเพณีนี้ได้ลดความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติลงไปมาก
จำนวนชาวเมืองนครศรีธรรมราชที่ปฏิบัติประเพณีนี้ลดลงไปแต่เดิมมาก
ประเพณีการตักบาตรธูปเทียนเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์อย่างลึกซึ่งระหว่างพระบรมธาตุเจดีย์กับชาวเมืองนครศรีธรรมราช
เป็นประเพณีที่แสดงถึงค่านิยมอันสูงส่งในทางพระพุทธศาสนาของชาวเมืองนครศรีธรรมราช
เป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลายาวนานและประการสำคัญประเพณีนี้ยังตกทอดมาเป็นมรดกของลูกหลานในทุกวันนี้นับเป็นมรดกที่เชิดหน้าชูตาชาวนครศรีธรรมราชอย่างยิ่งประเพณีหนึ่ง
6. ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาช้านาน
การเกิดขึ้นของประเพณีนี้เกิดจากคติความเชื่อเรื่องผีสางเทวดากับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ลังกาวงศ์ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
ผลผลิตทางการเกษตร และการนำผลผลิตทางการเกษตรมาทำบุญอุทิศให้แก่ บรรพชนญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว
จึงได้ร่วมกันจัดงานรื่นเริงเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกันที่บริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารและวัดภายในชุมชนเพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจต่อไป
งานบุญสารทเดือนสิบมาจากความเชื่อเรื่อง “ปุพพเปตพลี” ในพระพุทธศาสนา
เมื่อมนุษย์สร้างบุญกรรมอะไรไว้ก็จะได้รับผลตามการกระทำอย่างนั้นเรียกว่า “ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว”
โดยเฉพาะการทำชั่วเมื่อตายไปจะตกนรกไปรับกรรมมากน้อยตามผลที่ทำในชาติปางก่อน คนที่ตกนรกพวกนี้เรียกว่า “เปรต”
เมื่อถึงปลายเดือน 10 (แรม 1 ค่ำ เดือน 10) พวกเปรตซึ่งกำลังผอมโซ หิวโหยมาก
ดังคำพังเพยว่า "อยากเหมือนเปรตเดือนสิบ"
พญายมจะปล่อยให้กลับมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ เพื่อมาขอเสื้อผ้าอาหารขอส่วนบุญกุศลต่างๆ ที่ญาติจะอุทิศทำบุญให้และจะต้องรีบกลับไปเมืองนรกเมื่อถึงวันแรม
15 ค่ำ เดือน 10
ดังนั้นถ้าลูกหลานไม่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายายก็จะอดอยากหิวโหยอัตคัดขัดสนสิ่งของเครื่องใช้ได้รับความทุกข์ยากและด่าสาปแช่งลูกหลานที่ไม่รู้จักกตัญญูรู้บุญคุณของบรรพบุรุษให้ได้รับบาปกรรมเดือดร้อนชีวิตไม่เจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย
ลูกหลานจึงต้องยึดมั่นถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญยิ่ง เป็นกิจกรรมที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลมากน้อยจะขาดเสียมิได้ซึ่งงานบุญใหญ่มี
3 วัน ดังนี้
วันแรม
13 ค่ำ เดือน 10 ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "วันจ่าย" คือ
วันที่แต่ละบ้านจะต้องเตรียมจับจ่ายซื้อหาสิ่งของต่างๆ
ที่จะทำบุญมีทั้งผักผลไม้อาหารแห้ง
สิ่งของเครื่องใช้นานาชนิดที่พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้และเก็บรักษาไว้ฉัน (กิน)
ไว้ใช้ได้นานๆ เนื่องจากเข้าฤดูฝนการบิณฑบาตอาหารการกินจะขาดแคลนและไม่สะดวก จึงได้จัดใส่ภาชนะ เช่น กระจาด ตะกร้า กระเชอ
กะละมัง ถัง ชะลอม หลัว กระบุง ชาวเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า "หมฺรับ"
(สำรับ) อย่างใหญ่สำหรับถวายสังฆทาน จัดเป็นสลากภัตงานบุญใหญ่และอาหารแห้งอย่างหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ที่เป็นหัวใจของสำรับ
คือ ขนมเดือนสิบ เพราะเป็นขนมประเพณีที่ปฏิบัติสืบมาแต่โบราณสำหรับให้เปรตนำไปใช้สอยในเมืองนรกมี
5 ชนิด ดังนี้
1)
ขนมลา เป็นแป้งทอดโรยเป็นเส้นเล็กๆ มีลักษณะคล้ายเส้นด้ายหรือการทอผ้า
สมมติเป็นเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณและอาหาร
2)
ขนมพอง เป็นข้าวเหนียวทอดเม็ดพอง ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
ตรงกลางเป็นร่องแอ่น สมมติเป็นเรือแพยานพาหนะสำหรับเดินทางข้ามห้วงมหรรณพและเป็นเครื่องประดับ
3)
ขนมบ้าหรือขนมมด เป็นขนมแผ่นรูปกลมแบนทอด คล้ายลูกสะบ้าไม่มีรู สมมติเป็นเงินเบี้ยหรือเงินตราเงินเหรียญ
ใช้จับจ่ายหรือใช้เป็นลูกสะบ้าเล่นกีฬาพักผ่อนเล่นสนุกเพื่อความบันเทิง
4) ขนมดีซำหรือขนมเจาะหู เป็นขนมปั้นรูปกลมแบน ตรงส่วนกลางมีรูคล้ายขนมโดนัทของฝรั่ง
สมมติเป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอยหรือเป็นสตางค์มีรูในสมัยก่อนหรือใช้เป็นต่างหูเครื่องประดับก็ได้
5) ขนมกงหรือขนมไข่ปลา เป็นขนมรูปวงกลมอย่างวงล้อเกวียนมีกงกำ สมมติเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายทั่วไปและขนมลาลอยมันหรือขนมรังนก
สมมติเป็นฟูกหมอน เครื่องนอน บางท้องถิ่นใช้ขนมเทียนสมมติให้ใช้เป็นหมอนหนุน
ซึ่งเป็นขนมประเพณีรายการที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง อาจมีหรือไม่มีก็ได้เวลาทำบุญ
วันแรม 14 ค่ำ เดือน
10 ชาวเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า
"วันยกหมฺรับ" และถือเป็นวัน "ตั้งเปรต" ด้วยคือ
เป็นวันยกภาชนะสำรับต่างๆ
ที่บรรจุสิ่งของทำบุญทุกอย่างไว้แล้วตกแต่งอย่างเรียบร้อยสวยงามนำไปทำบุญถวายพระที่วัด
ถ้าเป็นภาชนะขนาดใหญ่หนักมากต้องหาบคอนไป
ถ้าเป็นขนาดเล็กอาจถือหิ้วใส่เอวกระเดียดไปได้ลูกหลานเดินตามกันเป็นแถว
เมื่อทำบุญพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ แต่ละครอบครัวก็ออกไปทำพิธี
"ตั้งเปรต" บางวัดเขาก็จัดทำสถานที่รวมไว้ให้โดยเฉพาะเป็น
"หลาเปรต" (ศาลาเปรต) หรือร้านเปรต
บางวัดให้ต่างคนต่างทำตามความสะดวกพอใจ บางวัดทำเป็นหอคอยยกเสาสูงราว 5 เมตร เพื่อให้คนปีนเสาทาน้ำมันลื่นแข่งขันกันเรียกว่า
"ชิงเปรต" การตั้งเปรตคือการเอาอาหารคาวหวานทุกชนิด
รวมทั้งดอกไม้ธูปเทียนเศษสตางค์ใส่กระทงไปวางบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ ทำพิธีกรวดน้ำเซ่นไหว้แผ่ส่วนกุศลให้แก่บรรพชน
ซึ่งมักนิยมเลือกสถานที่ใกล้กับเมรุ ป่าช้าหรือริมรั้ววัด เมื่อเสร็จพิธีลุกขึ้นก็จะมีพวกเด็กๆ มาแย่งอาหารและหาเศษสตางค์กัน
ลักษณะการแย่งชิงชุลมุนเพื่อเอาสิ่งของตั้งเปรต เรียกว่า
"ชิงเปรต"
"ชิงเปรต"
วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า
"วันฉลองหมฺรับ" หรือเป็น "วันสารท"
เป็นวันสุดท้ายของการทำบุญครบสมบูรณ์ตามประเพณีถือเป็นการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหมฺรับ ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันแรม
14 ค่ำ วันนี้จึงมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์และทำพิธีบังสุกุล กระดูกเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไป ถือเป็นวันสุดท้ายของงานบุญใหญ่และถือเป็น “วันส่งเปรต” อีกด้วยคือ ใครมีอาหารมีสิ่งใดที่จะทำบุญก็นำมาทำให้หมดในวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง
7. ประเพณีลากพระ เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงวันออกพรรษา
ซึ่งชาวเมืองนครศรีธรรมราชมีความเชื่อกันว่าอานิสงส์ของการลากพระทำให้ฝนตกตามฤดูกาล
เพราะชาวเมืองส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ต้องการไร่นาที่อุดมสมบูรณ์
เพิ่มพูนผลผลิต
การที่ฝนตกตามฤดูกาลเป็นสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดความเชื่อว่าเมื่อลากพระกลับถึงวัดแล้วฝนจะตกหนัก
จึงได้ทำรูปสัญลักษณ์ของพญานาคในการลากพระ
เพราะเชื่อกันว่าพญานาคเป็นผู้ให้น้ำและใครได้ลากพระทุกปีจะเป็นผู้ได้รับผลบุญเป็นอย่างมากที่จะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
การลากพระของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมักจะลากพระไปตามถนนราชดำเนินผ่านหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพื่อบูชาพระบรมธาตุเจดีย์และลากพระไปตามทุ่งนารอบๆ
เมืองเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ลากพระในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
ตามพุทธประวัติกล่าวว่าวันที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์สู่มนุษย์โลก หลังจากเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ณ
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา
ทรงเสด็จลงมาตามบันไดแก้ว โดยมีบันไดทองอยู่ทางเบื้องขวาสำหรับเทพยดาเสด็จลงมาส่ง
บันไดเงินอยู่ทางเบื้องซ้ายสำหรับพระพรหมเสด็จลงมาส่ง
บันไดทั้งสามทอดลงมายังประตูนครสังกัสสะ
เมื่อเสด็จถึงประตูเมืองเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษาพอดี
พุทธบริษัททั้งหลายทราบข่าวต่างมาคอยต้อนรับเสด็จอย่างเนืองแน่น
เพื่อจะคอยตักบาตรถวายภัตตาหารบ้าง ดอกไม้ธูปเทียนบ้าง ซึ่งเป็นที่มาของประเพณี “ตักบาตรเทโว” ทางภาคกลาง สำหรับภาคใต้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมีเฉพาะบางแห่ง เช่น สงขลา เพราะมีเขาตังกวนอยู่กลางเมือง
แต่ทว่าในพุทธประวัติมีนิทานเล่าประกอบเหตุการณ์ตอนนี้ว่าเนื่องจากมีคนมากมายโกลาหลไม่สามารถเข้าถึงพระพุทธองค์ได้
จึงเกิดประเพณีทำขนมขึ้นชนิดหนึ่งที่ห่อด้วยใบไม้
(ใบจาก ใบเตย ใบกะพ้อ) เรียกว่า “ขนมต้ม” หรือ “ห่อต้ม” หรือ “ห่อปัด” สำหรับโยนและปาจากระยะห่างเข้าไปถวายได้
ซึ่งความจริงอาจเป็นความสะดวกในการนำพาไปทำบุญ
สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานและสะดวกต่อการนำพาไปกินเวลาหิวขณะลากพระ ตลอดจนการขว้างปาเล่นกัน (ซัดต้ม) ดังนั้นขนมต้มจึงถือเป็นขนมหลักที่เป็นเอกลักษณ์ประจำเทศกาลสารทเดือนสิบ
ดังมีคำกล่าวว่า “เข้าษา กินตอก ออกษากินต้ม” คือ ขนมประเพณีประจำเทศกาลเข้าพรรษาคือข้าวตอก ขนมออกพรรษา คือ ขนมต้มถือปฏิบัติมาแต่โบราณ
การลากพระของชาวเมืองนครศรีธรรมราชและชาวปักษ์ใต้เป็นการสมมติและการสมโภชเฉลิมฉลองตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ โดยวิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรหรือปางประทานอภัย เรียกว่า “พระลาก” ขึ้นประดิษฐานบนบุษบก
ซึ่งถ้าเป็นทางบกบุษบกจะตั้งอยู่บนพาหนะทำเป็นรูปเรือหรือพญานาค (ไม่มีล้อ)
เรียกกันว่า “นมพระ” หรือ “พนมพระ”
อันแสดงว่าเดิมประเพณีนี้น่าจะเกิดจากการแห่ทางน้ำหรือทุ่งนาขึ้นก่อน
ชักลากแห่แหนไปยังตำบลต่างๆ ใกล้เคียง ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำหรือทางเรือเรียกว่า “เรือพระ” คือ เอาเรือหลายลำมาเทียบเคียงขนานผูกติดกันเป็นแพขนาดใหญ่
ประดับตกแต่งอย่างปราสาทมณฑปอย่างวิจิตร แห่แหนมีเครื่องดนตรีประโคมตามแม่น้ำลำคลอง
ทะเลสาบ ทำให้เกิดประเพณีการละเล่นต่างๆ ตามมาอีก เช่น การเล่นเรือเพลง การประชันปืด (ตะโพน)
การประชันโพน (กลอง) การแข่งเรือและการประกวดประชันอื่นๆ
ตลอดจนการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่เพื่อใช้ในงานประเพณี เป็นต้น
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
เป็นการทำบุญออกพรรษาตามปกติ ซึ่งในตอนกลางคืนระหว่างที่มีพิธีสมโภชพระลากและมีพิธี
“คุมพระ” หรือ “ประโคมพระลาก” อีกด้วย พอถึงวันแรม 1
ค่ำ เดือน 11 เป็นวันออกพรรษาในตอนเช้าตรู่มีการตักบาตรพระลากหรือตักบาตรพระพุทธเจ้า
เรียกว่า “ตักบาตรหน้าล้อ” และลากพระออกจากวัดไปตามถนนประมาณ 1-2 วัน อย่างสนุกสนาน
เพลงลากพระร้องเป็นกลอนสด บางครั้งอาจมีลักษณะสองง่ามสามแง่
เนื่องจากเพื่อความสนุกสนานคนลากพระจึงกินเหล้าเข้าไปบ้าง เป็นพวกวัยรุ่นบ้าง
ต้องการเย้าแหย่สังคมแวดล้อม
สะท้อนปัญหาเรื่องของชาวบ้าน
จึงใช้ปฏิภาณไหวพริบร้องไปเพื่อคลายร้อนคลายเหนื่อย คนดูคนฟังก็พลอยชอบใจอมยิ้มตามไปด้วย เช่น
ร้องว่า “ลากพระไม่ไป สาวสาวพุงใหญ่ (ท้อง) เกิดลูกลอยคลอง” มีเรื่องว่าเมื่อประมาณปี
พ.ศ.2502 ก่อนถึงงานลากพระแรม 1 ค่ำ เดือน
11 ชาวบ้านในตำบลนา (ตำบลในเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ใกล้กับประตูชัยสิทธิ์หรือประตูชัยใต้ นำลูกแรกคลอดไปลอยทิ้งในคลองป่าเหล้าตอนกลางคืน
รุ่งเช้าชาวบ้านไปพบศพทารกเกิดโจทย์ขานกันเป็นข่าวใหญ่ว่าเป็นลูกของใครกันแน่ บ้างวิจารณ์ว่าเป็นลูกที่ไม่มีพ่อหรือฝ่ายชายไม่รับเลี้ยงดูแม่เลยเอาลูกมาทิ้งในคลอง
เมื่อถึงงานลากพระชาวบ้านจึงนำมาร้องเป็นเพลงลากพระ
เช่นร้องว่า “ลากพระไม่ไป ถ่านไฟแทงหยวก” มีที่มาที่ไปเช่นเดียวกัน
เรื่องจริงมีว่าวัฒนธรรมจังหวัดคนหนึ่งที่นครศรีธรรมราชเป็นคนภาคกลางผิวดำได้มาแต่งงานกับลูกสาวจีนผิวขาวที่ประตูชัยใต้
เหตุการณ์ผ่านมาไม่นานชาวบ้านมีปฏิภาณดี เมื่อลากพระผ่านสี่แยกประตูชัยใต้จึงร้องเพลงสัพยอก
ตามปกติขณะลากพระไปถึงไหนพบเห็นเหตุการณ์อะไรมีความรู้เรื่องเก่าใหม่อย่างไรก็จะร้องกันให้เข้ากับเรื่องราวบรรยากาศได้เสมอ เพลงลากพระจึงสนุกและทุกคนสามารถเป็นต้นเสียงกันร้องนำได้ตลอดเวลา
อย่างร้องว่า “ลากพระขึ้นควน สีนวลแพล็ดๆ” ก็มาจากเรื่องจริงแต่ครั้งโบราณ คือ
มีผู้หญิงคนหนึ่งบ้านอยู่แถวตำบลในเมืองใกล้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารได้เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรเป็นพระลากซึ่งได้ถวายไว้ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ ผู้คิดแต่งคำร้องเพลงพระลากจึงนำมาร้องสรรเสริญ
แต่ต่อมาภายหลังมีผู้นำมาร้องแปลงใหม่จนกลายเป็นคำไม่สุภาพไป
เป็นต้น ประเพณี ลากพระนี้บางแห่งทำปีละ 2
ครั้ง คือ ครั้งหลังมีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 (วันที่ 15 เมษายน) หลัง วันว่างหรือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยมีถือปฏิบัติกันอยู่ที่พัทลุงและปัตตานี
วันขึ้นปีใหม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าแต่งชุดใหม่กัน
ทุกคน ดังนั้นก่อนสงกรานต์ชาวบ้านจะต้องเตรียมทอผ้าไว้ตัดเย็บชุดใหม่เป็นประเพณีมีมาแต่โบราณ ประเพณีลากพระและการตกแต่งพนมพระหรือเรือพระบก ปัจจุบันบางวัดก็ยังรักษารูปแบบเดิม ส่วนบางวัดก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบด้วยการใช้รถยนต์ตกแต่งเป็นเรือพระเพื่อนำเข้าประกวดตามสถานที่ต่างๆ ที่ห่างไกล
ทุกคน ดังนั้นก่อนสงกรานต์ชาวบ้านจะต้องเตรียมทอผ้าไว้ตัดเย็บชุดใหม่เป็นประเพณีมีมาแต่โบราณ ประเพณีลากพระและการตกแต่งพนมพระหรือเรือพระบก ปัจจุบันบางวัดก็ยังรักษารูปแบบเดิม ส่วนบางวัดก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบด้วยการใช้รถยนต์ตกแต่งเป็นเรือพระเพื่อนำเข้าประกวดตามสถานที่ต่างๆ ที่ห่างไกล
8. ประเพณีสวดด้าน
เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นมาจากผู้คนที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์และพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
ซึ่งได้เดินทางมานมัสการพระบรมธาตุเจดีย์และร่วมพิธีทำบุญทางพระพุทธศาสนาในวันธัมมัสสวนะหรือวันพระขึ้นแรม
8 ค่ำ 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ
โดยที่พุทธศาสนิกชนได้ไปร่วมชุมนุมกันที่บริเวณลานด้านใดด้านหนึ่งของระเบียงวิหารคดและวิหารทับเกษตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์เพื่อรอฟังพระธรรมเทศนา ในขณะที่รอฟังการแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้นผู้คนมักจะนั่งพูดคุยกันเรื่องราวต่างๆ
และเห็นว่าเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน
จึงได้จัดหาหนังสือบุดหรือสมุดข่อยที่จารด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับชาดกทางพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มาอ่านหรือสวดให้ผู้ที่มาชุมนุมฟัง จึงทำให้เกิดประเพณีสวดหนังสือขึ้น
แต่เนื่องจากสถานที่สวดหนังสือเป็นบริเวณลานด้านใดด้านหนึ่งของระเบียงวิหารคดและวิหารทับเกษตรหรือด้านรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์
เรียกว่า “สวดด้าน”
การสวดด้าน คือ
การอ่านหนังสือร้อยกรองอันเป็นวรรณกรรมพื้นเมืองท้องถิ่นให้แก่ผู้คนที่มานั่งรอการฟังพระแสดงพระธรรมเทศนาหลังเวลาฉันภัตตาหารเพลอยู่ตามระเบียงวิหารคดและวิหารทับเกษตร
มีผู้คนจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งมีผู้คนไปนั่งรอกันอยู่ทุกด้านในแต่ละด้านจะมีธรรมาสน์สำหรับพระนั่งแสดงธรรมเทศนา
ขณะที่นั่งกันอยู่นั้นจะมีการคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ทางด้านการอ่านหนังสือเป็นผู้อ่านหนังสือหรือสวดหนังสือ
หนังสือที่ใช้สวดหรืออ่านส่วนใหญ่เป็นหนังสือบุดที่ผู้สวดจัดหามาเองหรืออาจจะยืมหนังสือของวัด หนังสือเหล่านั้นจะเป็นหนังสือชาดกทางพระพุทธศาสนาและหนังสือวรรณกรรมท้องถิ่นที่ให้คติสอนใจ
เช่น เรื่องโคบุตร พระรถเมรี สุบิน ทินวงศ์
สี่เสาร์ กระต่ายทอง พระรถเสน (ของนายเรือง นาใน) เสือโคคำฉันท์ (ของพระมี)
เป็นต้น หนังสือเหล่านั้นแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ผู้สวดจะสวดทำนองเสนาะเป็นภาษาถิ่นใต้ บางครั้งผู้สวดจะเน้นเสียงเป็นจังหวะ รู้จักเล่นท่าเล่นทางประกอบในตอนที่จำเป็น
เช่น การใช้สีหน้า การโยกตัวและการแสดงท่าทางประกอบบ้าง บางครั้งคนสวดเป็นนักเทศน์เก่าแหล่ หมอทำขวัญนาค
ครูมาลัย นายหนังตะลุง มโนราเก่าหรือเพลงบอก การสวดการอ่านได้ดีเป็นที่ติดอกติดใจของผู้ฟังมาก
จึงทำให้คนแก่คนเฒ่าที่ไม่รู้หนังสือก็สามารถจำบทกลอนในหนังสือได้ตลอดเล่ม
ส่วนผู้คนที่มาร่วมฟังสวดก็จะมีการบริจาคทรัพย์หรือเลี้ยงข้าวปลาอาหารแก่ผู้สวด
แต่ส่วนใหญ่ผู้สวดจะใช้เงินส่วนนี้ถวายพระสงฆ์หรือถวายวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในการสวดด้านผู้สวดจะต้องใช้ความสามารถสูง เพราะถ้าสวดไม่เป็นที่พอใจของผู้ฟังๆ จะทยอยไปฟังการสวดที่ด้านอื่น
การสวดด้านผู้สวดจะสวดไปเรื่อยๆ
จนได้เวลาที่พระภิกษุมาถึงสถานที่นั้นเพื่อที่จะแสดงธรรมเทศนา จึงหยุดสวดแม้ว่าเรื่องที่สวดจะยังไม่จบก็ตาม
เพราะว่าสามารถที่จะนำไปสวดต่อในวันพระต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชได้ฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีสวดด้านวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
แต่รูปแบบการสวดได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่มีคนอ่านหนังสือวรรณกรรมท้องถิ่นให้ฟัง
ด้วยการนำหนังสือพระนิพพานโสตรมาสวดพร้อมๆ กันและเวลาก็เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น
9. ประเพณีสวดพระมาลัย
เป็นประเพณีอันเนื่องมาจากงานศพของชาวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดขึ้นจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางของความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีคนตายก็ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาสวดที่บ้านตามธรรมเนียมทั่วไป เมื่อพระสงฆ์กลับวัดแล้ว ถ้าไม่มีเครื่องดนตรี
กาหลอประโคมตอนดึกจะเกิดความเงียบเหงาวังเวง น่ากลัว จึงเกิดความคิดให้ฆราวาสเลียนแบบพระสงฆ์มานั่งสวดพระธรรมคัมภีร์เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
หนังสือที่สวดคือหนังสือพระมาลัยที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนตาย ซึ่งเขียนเป็นกลอนสวดลงในหนังสือบุด
จารึกตัวอักษรเป็นขอมไทย ทำนองประพันธ์เป็นกาพย์ เรียกว่า
คัมภีร์มาลัยหรือหนังสือมาลัยหรือหนังสือสวดมาลัย
กวีนิพนธ์เมืองนครศรีธรรมราชได้ร้อยกรองเพื่อใช้สวดในงานศพ ซึ่งค้นพบที่วัดสวนป่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง
จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นการเกิดประเพณีสวดพระมาลัยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเพื่อนแก้เงียบเหงาวังเวงและให้คนอยู่หลังมีสติยั้งคิดได้คติธรรมปลงอนิจจังและเป็นเพื่อนกับเจ้าของบ้านสร้างบรรยากาศไม่ให้เศร้าสร้อย
จากการฟังเรื่องของพระมาลัย
ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้บรรลุธรรมมีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินได้ สามารถเดินทางไปยังนรกและสวรรค์
ได้พบเห็นสภาพของมนุษย์ที่ทำชั่วตกนรกอันน่าเวทนา
ซึ่งต่างกับผู้ทำบุญกุศลความดีได้ไปเกิดบนสวรรค์พบเทวดามีความสุข จึงนำมาสั่งสอนบอกเล่าให้มนุษย์คนทั่วไปรู้ถึงผลของกรรม
เพื่อให้ตระหนักในบาปบุญคุณโทษและปฏิบัติตนในทางที่ชอบ ความนิยมสวดพระมาลัยมีมากที่เมืองนครศรีธรรมราช
สุราษฎร์ธานี พัทลุงและสงขลา
ผู้เล่นสวดพระมาลัยจะต้องเป็นคนอ่านหนังสือแตกฉาน เคยบวชเรียนมาก่อนบ้าง คณะสวดพระมาลัยคณะหนึ่งมีจำนวน 4 คนหรือมากกว่านั้นก็ได้ ทำหน้าที่เป็นแม่เพลง (แม่คู่)
2 คน เป็นลูกคู่ (คู่หู) 2 คน แต่ละคนถือตาลปัตร แต่งกายตามมีตามเกิดหรือเลียนแบบพระสงฆ์บ้างหรือแต่งกายออกไปทางตลกขบขันบ้าง
เน้นสนุกสนานขบขัน บางวงอาจมีเครื่องแบบ มีเครื่องดนตรีประกอบ
เช่น กลอง รำมะนา ปี่ ขลุ่ย เป็นต้น บางครั้งเวลาสวดมีการกระทุ้งด้ามตาลปัตร
เล่นลำนอกกระโดดโลดเต้นบ้าง ซึ่งมักจะดื่มสุราบ้างเพื่อป้องกันง่วงและปลุกเร้าใจให้มีอารมณ์สนุกอยู่เสมอ
การสวดพระมาลัยมีพิธีการตามลำดับ ดังนี้
1) เริ่มต้นด้วยการสวดบท “นโม”
เพื่อไหว้ครูก่อนตามธรรมเนียมโบราณ การสวดทำนองกลอน เรียกว่า “ตั้งนโม”
2) ดำเนินเรื่อง เรียกว่า “ตั้งในการ” กล่าวถึงประวัติของพระมาลัยอย่างละเอียด
3) กล่าวบทที่เรียกว่า “สำหรับบท”
กล่าวถึงพุทธประวัติและพระเกียรติคุณของพระองค์
4) กล่าวบทที่เรียกว่า “พระเถร” กล่าวบทคุณของพระมาลัยผู้เป็นต้นเรื่อง
5) กล่าวบทที่เรียกว่า “ฉันชา” กล่าวบรรยายคุณของการสมาทานศีลโทษการผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
6) กล่าวบทที่เรียกว่า “เมียท่าน” กล่าวบรรยายความชั่วช้าในการคบชู้ผิดศีลธรรม
7) กล่าวบทที่เรียกว่า “เบ็ดเตล็ด” หรือ “ลำนอก”
เป็นการกล่าวเล่นนอกเรื่องพระมาลัย ซึ่งกลายเป็นตอนที่ยาวนานหรือเป็นหัวใจของการสวดไปแม้จะถือเป็นของแถม
แต่ความสนุกสนานหรือการเล่นนอกบทสามารถทำได้มากมีคนสนใจมาดูมาฟังแม้แต่เด็ก
เช่น อาจแสดงเป็นลิเก เล่นเรื่องจันทโครพก็อยู่ได้เกือบทั้งคืน
การสวดพระมาลัยได้เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติไปตามรูปแบบเดิม
โดยที่คณะเหล่านั้นนั่งล้อมวงข้างหน้าหีบศพไม่จำกัดตำแหน่งกี่คนก็ได้
มีการผลัดกันร้องผลัดกันรับ
มีการต่อกลอนกันทั้งวงและไม่มีการใช้ตาลปัตรเหมือนแต่ก่อน
การสวดพระมาลัยในสมัยก่อนมีแพร่หลายมากนิยมสวดทุกงานศพ
แต่ปัจจุบันการสวดพระมาลัยได้หมดความนิยมไป นักพระสวดมาลัยที่เหลืออยู่ก็แก่เฒ่า
ผู้สนใจฝึกหัดสืบต่อก็ไม่มี ในอนาคตการสวดพระมาลัยน่าจะเหลือเพียงชื่อเท่านั้น
10. ประเพณียกขันหมากปฐม เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำบุญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานในเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่มักจะกระทำกันในวัดตามชนบท
หากวัดมีความจำเป็นที่จะต้องหาเงินมาใช้ในการสร้างเสนาสนะใหญ่ๆ เช่น อุโบสถ
วิหาร กำแพงวัด เป็นต้น
การยกขันหมากปฐมเป็นพิธีที่เนื่องในพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ โดยการอาศัยเค้าและแบบอย่างมาจากพระพุทธประวัติตอนอาวาหมงคลของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาเป็นแบบอย่าง
ด้วยการสมมติคู่บ่าวสาวขึ้นมาคู่หนึ่งเจ้าบ่าวให้แทนพระเจ้าสุทโธทนะและเจ้าสาวแทนพระนางสิริมหามายา
สมมติผู้สูงอายุให้เป็นพระญาติวงศ์ของแต่ละฝ่ายตามพระพุทธประวัติและจัดพิธีแต่งงานขึ้นตามแบบอย่างในพระพุทธประวัติทุกประการ
ตั้งแต่โบราณมานิยมจัดพิธีแต่งงานขึ้นในเดือนหกเพียงเดือนเดียว ครั้นในระยะหลังมาจัดในเดือนอื่นๆ เพิ่มอีกหลายเดือน
เช่น เดือนเก้า เดือนสิบเอ็ด และเดือนสิบสอง แต่พิธียกขันหมากปฐมมิได้มีการยึดถือตามนั้น
เพราะจัดขึ้นเมื่อใดก็ได้ที่วัดมีความประสงค์ที่จะจัด
ส่วนใหญ่จะยกเว้นเฉพาะในฤดูเข้าพรรษาเพียงสามเดือนเท่านั้น
การประกอบพิธีนี้จะเริ่มต้นด้วยการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ
ของวัด ตลอดจนการจัดหาคู่บ่าวสาว ซึ่งส่วนใหญ่คัดเลือกจากผู้ที่ยังเป็นโสดที่มีลักษณะสวยงามและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
บางคราวในพิธีนี้มีการเลือกเอาผู้หญิงล้วนมาเป็นคู่บ่าวสาวและบางคราวมีการเลือกเอาชายจริงหญิงแท้มาเป็นคู่บ่าวสาวแล้วแต่ความเหมาะสม ในวันประกอบพิธีจะมีการยกขันหมากตามประเพณีมาที่วัดในสถานที่จัดงานนี้
โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวและผู้สมมติเป็นพระญาติวงศ์แต่งกายอย่างกษัตริย์ตามความในพระพุทธประวัติ
(อาจหยิบยืมเครื่องแต่งกายจากคณะมโนราหรือคณะลิเก)
เมื่อยกขันหมากปฐมมาถึงวัดก็นำขันหมากไปวางในวิหารที่ใช้ประกอบพิธี
ถัดจากนั้นพราหมณ์จะเริ่มทำพิธีตามแบบแผน
หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวจะไปไหว้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตามที่สมมติขึ้น
ญาติเหล่านั้นมอบสิ่งของที่ระลึกให้คู่บ่าวสาวซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเงิน
เพราะวัดต้องการเงินมากกว่าสิ่งของอย่างอื่น
เจ้าบ่าวเจ้าสาวออกไปไหว้ผู้มาร่วมงานทุกคน โดยทุกคนจะมอบเงินให้คู่บ่าวสาวเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงนำเงินมารวมกันกับเงินในขันหมากที่เตรียมมาแล้วถวายเงินทั้งหมดให้แก่วัด
เพื่อใช้ในการก่อสร้างเสนาสนะตามวัตถุประสงค์ของวัดต่อไป
จากนั้นคู่บ่าวสาวญาติและผู้ร่วมงานทุกคนมาร่วมกันในสถานที่ประกอบพิธีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบูชาพระรัตนตรัย รับศีล
ฟังเทศน์ฟังธรรมจนเสร็จพิธีสงฆ์
เมื่อเสร็จพิธียกขันหมากปฐมแล้วก็ช่วยกันเก็บข้าวของจนเรียบร้อยแล้วจึงแยกย้ายกันกลับ
สรุปว่า
พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เผยแผ่เข้าสู่เมืองนครศรีธรรมราชและตั้งมั่นอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน โดยที่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้รวมเอาลัทธิความเชื่อผีสางเทวดา
สิ่งเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
และลัทธิความเชื่อท้องถิ่นเข้ามาผสมกลมกลืนกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
จึงเป็นความเชื่อที่มีเสน่ห์ในการร้อยรัดเอาสถาบันทางสังคมเข้ามาอยู่รวมกันภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์
แห่งความศักดิ์สิทธิ์
ความเชื่อเหล่านั้นได้นำไปสู่พิธีกรรมทางสังคมที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม
ได้แก่ ประเพณีการบวช ประเพณีการให้ทานไฟ ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาโค
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณี ตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีลากพระ
ประเพณีสวดด้าน ประเพณีสวดพระมาลัย และประเพณียกขันหมากปฐม
บรรณานุกรม
จันทรา ทองสมัคร. "ประเพณีสวดด้าน" นครศรีธรรมราช 26, (กรกฎาคม 2539) : 23
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้.
กรุงเทพมหานคร :
สุวีรสาส์น,. 2548.
ปรีชา
นุ่นสุข. รายงานการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศ
ไทย. คณะกรรมการวิจัยการศึกษา
การศาสนาและการวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ,
2544.
วิมล ดำศรี. ผ้าพระบฎพระราชทาน
ปัจจัยและสื่อส่งเสริมสืบสานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเมือง
นครศรีธรรม.
นครศรีธรรมราช : ไทม์
พริ้นติ้ง, 2557.
วิมล ดำศรี. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
นครศรีธรรมราช มรดกธรรม นำสู่มรดกโลก ภาพลักษณ์
จากวรรณกรรม.
นครศรีธรรมราช : ไทม์
พริ้นติ้ง, 2557.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น