วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ดอกไม้จันทน์สัญลักษณ์แห่งความรักหลังความตาย


บทความวิชาการที่ 13  โดย พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ กลิ่นละมัย)   
             ไม้จันทน์เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคลและมีกลิ่นหอม คนโบราณจึงนิยมนำมาเป็นส่วนหนึ่งของหีบศพหรือไม้ฟืนเผาศพ  เพราะมีกลิ่นหอมสามารถดับกลิ่นศพได้ เมื่อไม้จันทน์หายากจึงได้ใช้ไม้ชนิดอื่นมาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” การทำดอกไม้จันทน์ในปัจจุบันมีหลายลักษณะ อาทิเช่น เป็นดอกกุหลาบ ดอกแก้ว และดอกไม้ชนิดอื่นๆ และเพิ่มความหลากหลายสีสันตามความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันพิธีวางดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความเคารพและไว้อาลัยแก่ผู้ตายได้สร้างบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคมอีกด้วย

ไม้จันทน์สู่ดอกไม้จันทน์
            ไม้จันทน์เป็นไม้ชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล มีคุณค่า สูงศักดิ์ และหายาก  จึงได้นำไม้จันทน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีศพ  ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของหีบศพหรือโลงศพหรือเป็นไม้ฟืนที่ใช้ในการเผาศพ  ต่อมาเมื่อไม้จันทน์มีน้อยลงและหายาก  จึงได้นำไม้จันทน์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีศพตามความเชื่อเท่านั้น  เพราะว่าไม้จันทน์เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอมใช้ในการบรรเทาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็นและมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้นๆ การจัดงานศพให้คนตายเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย จึงต้องกระทำอย่างประณีตและดีที่สุด เพราะเชื่อว่าผู้ตายจะได้ไปสู่สุคติและเมื่อเกิดภพใหม่จะได้พบแต่สิ่งที่ดีงาม
            ปัจจุบันไม้จันทน์หายากจึงได้นำไม้ชนิดอื่นมาทดแทนและประดิษฐ์ในรูปแบบของดอกไม้ประดิษฐ์มาเป็นสิ่งทดแทนเพื่อให้สะดวกในการใช้งาน เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” ไม้ที่นิยมนำมาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ได้แก่ ไม้โมกสกุลต่างๆ ไม้มะม่วงป่า ไม้ฉำฉา เป็นต้น เพราะมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับไม้จันทน์ คือ มีสีเหลือง เหนียว เก็บไว้ได้นาน และไม่ขึ้นสีดำคล้ำ ดอกไม้จันทน์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมหลายชนชั้นที่ใช้ดอกไม้จันทน์ในงานพิธีฌาปนกิจศพ  เมื่อมีผู้มาร่วมพิธีเผาศพจะแสดงความเคารพและไว้อาลัยก็จะต้องนำดอกไม้จันทน์ไปวางไว้หน้าหีบศพหรือใต้หีบศพ ดังนั้น ในแต่ละงานศพถ้ามีผู้คนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  เจ้าภาพจะต้องเตรียมดอกไม้จันทน์ไว้เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ดอกไม้จันทน์มีจำหน่ายตามร้านขายโลง อุปกรณ์จัดงานศพหรือร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ปัจจุบันมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ออกไปอย่างกว้างขวาง  แต่ก็ยังไม่มีแหล่งผลิตที่ใหญ่ๆ ผู้จัดทำหรือประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสามารถผลิตเพื่อสร้างรายได้และสามารถประกอบเป็นอาชีพได้

การใช้ดอกไม้จันทน์ในพิธีศพ
            การใช้ดอกไม้จันทน์ในการประกอบพิธีเกี่ยวกับศพหรือการเผาศพ ในอดีตนั้นยังไม่ปรากฏว่ามีการนำดอกไม้จันทน์มาใช้ในการเผาศพแต่อย่างใด เพราะว่ายังไม่มีดอกไม้จันทน์ดังกล่าว จึงมีเพียงแต่การใช้ไม้จันทน์หรือท่อนจันทน์มาเป็นไม้ฟืนในการเผาศพ ซึ่งได้มีการนำส่วนต่างๆ ของไม้จันทน์ไปใช้ตามธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย ดังนี้
            1. สมัยสุโขทัย มีเพียงการกล่าวถึงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับศพไว้ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นงานถวาย
พระเพลิงศพของกษัตริย์และชนชั้นสูง ซึ่งมีการนำไม้จันทน์มาประกอบในพิธีอยู่ไม่มาก แต่ยังไม่มีการใช้ดอกไม้จันทน์ในการเผาศพ พิธีถวายพระเพลิงศพของกษัตริย์ เรียกว่า “พิธีสังสการ” มีการนำไม้จันทน์มาใช้ในพิธีศพ โดยจะใช้ในการทำความสะอาดชโลมศพด้วยกระแจะจวง
จันทน์ (ผงเครื่องหอมประสมแบบโบราณสำหรับทาหรือเจิมที่ศพ ประกอบแก่นไม้หอม ชะมดเชียง หญ้าฝรั่นและไม้จันทน์) แล้วนำศพใส่โกศสงสการด้วยแก่นจันทน์และกฤษณา
            2. สมัยอยุธยา เริ่มมีการจัดพระราชพิธีเกี่ยวกับพระศพของกษัตริย์และได้มีการนำไม้จันทน์มาใช้ ซึ่งจะใช้ท่อนจันทน์ในการเผาศพเจ้านาย ซึ่งจะเน้นการสรงน้ำชำระศพด้วยเครื่องหอม เครื่องเทศ ไม้จันทน์ และใช้ไม้จันทน์เป็นไม้ฟืนในพิธีเผาศพ เพราะจะช่วยในการดับกลิ่นและทำให้มีกลิ่นหอม มีการสร้างเชิงตะกอนด้วยไม้จันทน์สำหรับถวายพระเพลิงศพของกษัตริย์
            3.  สมัยธนบุรี สมัยนี้ไม่ปรากฏหลักฐานในการจัดทำพิธีเกี่ยวพระศพของกษัตริย์และไม่มีการ    กล่าวถึงการใช้ไม้จันทน์ในพิธีศพ แต่ปรากฏหลักฐานเพียงการใช้ท่อนจันทน์ในการประหารชีวิตเท่านั้น
            4.  สมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มมีการคิดค้นดอกไม้ประดิษฐ์ขึ้นแล้วและได้มีวัฒนาการประวัติความ   เป็นมาของการใช้ “ไม้จันทน์มาสู่ดอกไม้จันทน์”  ซึ่งได้มีการนำแนวคิดการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จาก “ชาววัง
สู่ชาวบ้าน” สามัญชนนำมาแพร่กระจายจนเป็นขนบธรรมเนียมสืบเนื่องกันมา ซึ่งสามารถเห็นการใช้ไม้จันทน์ในพิธีศพของบุคคลชั้นสูง แต่ปัจจุบันมีการประดิษฐ์ดอกไม้เทียมใช้และสามารถใช้ในพิธีการเผาศพของ
สามัญชนได้

ลักษณะของดอกไม้จันทน์
            ดอกไม้จันทน์ในแต่ละยุคสมัยได้มีวิวัฒนาการที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการใช้ดอกไม้จันทน์ในแต่ละยุคสมัย อันเนื่องจากสมัยก่อนยังคงสภาพเป็นการใช้แบบท่อนจันทน์  จึงไม่ปรากฏรูปแบบว่าเป็นแบบใดมาจนถึงปัจจุบัน  ในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนารูปแบบที่มีรูปร่างเป็นดอกไม้จันทน์มากยิ่งขึ้น ดังนี้
            1. สมัยสุโขทัย  ลักษณะการใช้เป็นไม้ฟืนที่เป็นท่อนๆ และนำไปใช้เป็นผงเครื่องหอมในการทำความสะอาดชโลมศพด้วยกระแจะจวงจันทน์และนำศพใส่โกศแล้วสังสการด้วยแก่นจันทน์
            2. สมัยอยุธยา  ลักษณะการใช้จะเน้นการสรงน้ำชำระศพด้วยเครื่องหอม เครื่องเทศและไม้จันทน์ การสร้างเชิงตะกอนด้วยไม้จันทน์และใช้ไม้จันทน์เป็นไม้ฟืนในพิธีถวายพระเพลิงศพของกษัตริย์
            3. สมัยธนบุรี  ไม่ปรากฏว่ามีการจัดงานเกี่ยวกับพระราชพิธีศพ จึงมีเพียงการกล่าวถึงงานศพเพียงเล็กน้อย จึงไม่ปรากฏการนำไม้จันทน์มาใช้เกี่ยวกับพิธีศพ
            4. สมัยรัตนโกสินทร์  ลักษณะการใช้จะมีการใช้ไม้จันทร์และดอกไม้จันทน์ในพิธีศพของกษัตริย์และบุคคลชั้นสูง ปัจจุบันได้มีการผลิตดอกไม้ประดิษฐ์เป็นดอกไม้จันทน์เทียม ซึ่งสามารถนำไปใช้ในพิธีศพของสามัญชนได้ การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ในปัจจุบันมี 3 ชนิด ได้แก่ ดอกกุหลาบ ดอกแก้ว และดอกไม้ที่มีลักษณะแปลกๆ ตามความพอใจของผู้ซื้อ จึงมีการประยุกต์เพิ่มตามความหลากหลายของสีสันที่มีให้เลือกหลายสี เช่น สีครีม สีม่วง สีฟ้า สีชมพูครีม และสีอื่นๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ และมีการพัฒนาเป็นรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ดอกไม้จันทน์ ช่อประธาน และช่อเชิญพระ สำหรับช่อประธานและ
ช่อเชิญพระบางพื้นที่เป็นชนิดเดียวกันแต่เรียกชื่อต่างกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับดอกไม้จันทน์
            การใช้ไม้จันทน์และดอกไม้จันทน์เป็นคติความเชื่อของชาวพุทธไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งถือว่าไม้จันทน์เป็นไม้มงคลและมีกลิ่นหอมจึงสมควรนำมาเคารพศพหรือเผาศพ  สมัยก่อนมีการเผาเครื่องหอมบูชา
เทพเจ้า การเผาไม้จันทน์ก็เหมือนกับการได้บูชาเทพเจ้า การใช้ไม้จันทน์เป็นฟืนเผาศพจะช่วยดับกลิ่นเหม็นของศพได้  สมัยก่อนไม่มีน้ำยาฉีดศพเพื่อป้องกันมิให้ศพเน่าเปื่อยเมื่อเก็บไว้หลายวัน ศพจึงมีกลิ่นเหม็นมากและการเผาศพใช้วิธีเผากลางลานวัดหรือกลางแจ้ง โดยใช้ท่อนฟืนกองไว้ข้างล่าง ศพวางไว้บนกองฟืนแล้วจุดไฟเผา ชาวพุทธจึงใช้ภูมิปัญญาจากพระพุทธศาสนาและภูมิปัญญาชาวบ้านในการหาไม้ที่มีกลิ่นหอมเพื่อกลบกลิ่นศพ จึงใช้ท่อนไม้หรือฟืนไม้จันทน์ที่ทำให้กลิ่นเหม็นหายไป
 ความเชื่อนี้ถือว่าการจัดงานศพให้แก่ผู้ตายเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย จึงจะต้องกระทำอย่างประณีตและดีที่สุด เพราะเชื่อว่าผู้ตายจะไปสู่สุคติและเมื่อเกิดภพใหม่จะพบแต่สิ่งที่ดีงาม จากคติความเชื่อเรื่องการเผาเครื่องหอม กำยาน ถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าหรือพระพุทธรูปด้วยธูปหอมที่ทำจากไม้จันทน์  ดอกไม้จันทน์ที่ใช้ในงานเผาศพเดิมคงใช้ไม้จริงๆ แต่เมื่อไม้จันทน์หายากภูมิปัญญาของชาวบ้านก็ได้พัฒนาขึ้นจึงได้ใช้ไม้ประเภทอื่น ได้แก่
ไม้โมก ไม้มะม่วงป่า ไม้ฉำฉา ไสกบให้บางและประดิดประดอยให้เป็นช่อดอกไม้แทน เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์”
            ขณะที่ตั้งศพไว้บำเบ็ญกุศลอยู่นั้นบางคนใช้พวงมาลัยช่อดอกไม้สดขอขมาต่อศพและต่อมาใช้พวงรีดดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้งไปวางไว้หน้าหีบศพ  เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายจนถึงวันเผาศพ  ในวันเผาศพเจ้าภาพจะจัดเตรียมดอกไม้จันทน์ไว้ให้แขกที่มาร่วมงานได้วางดอกไม้จันทน์  ช่วงนี้มีธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมกันในปัจจุบันสำหรับการเผาศพ เรียกว่า “เผาหลอก” ก่อนแล้วจึง “เผาจริง” เพื่อให้แขกที่มาร่วมงานได้วางดอกไม้จันทน์ที่หน้าหีบศพหรือใต้หีบศพ  เป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยแก่ผู้เป็นครั้งสุดท้าย  ซึ่งเป็นพิธีเผาศพโดยสมมติ เมื่อแขกผู้มาร่วมพิธีได้วางดอกไม้จันทน์หมดแล้ว จึงนิยมให้ญาติมิตรสหายผู้ใกล้ชิดกับผู้ตายขึ้นไปบนเมรุทำการเผาศพจริงอีกครั้งหนึ่ง จึงสำเร็จพิธีวางดอกไม้จันทน์และการเผาศพที่สมบูรณ์
            ขณะเดียวกันดอกไม้จันทน์และพิธีวางดอกไม้จันทน์ในพิธีเผาศพนั้นเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยแก่ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย การวางดอกไม้จันทน์หน้าหีบศพได้สร้างคุณค่าและการขัดเกลาทางสังคม 2 ประการ คือ
            1. การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม คือ การที่ทุกคนมาร่วมในพิธีเผาศพจะมีขนบธรรมเนียมในการปฏิบัติที่เหมือนกัน การแต่งกายด้วยชุดดำหรือชุดขาวดำ การเคารพกฎกติกาในพิธีศพ การช่วยเหลือและ
ให้กำลังใจแก่ญาติของผู้ตาย และการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีต่อกัน เป็นต้น
            2. การสร้างค่านิยมทางสังคม คือ การที่ทุกคนมาร่วมในพิธีเผาศพทุกคนรู้จักหน้าที่ของตน มีระเบียบวินัยในการเดินแถวไปวางดอกไม้จันทน์ การสำรวมกายวาจาใจและการแสดงความเคารพ มีสติระลึกถึงชีวิตและความตาย การเห็นคุณค่าของชีวิตและความดี มีความสามัคคี และมีความมุ่งมั่นในการทำความดี ละเว้นชั่ว เป็นต้น

สรุป
            ไม้จันทน์เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล คนโบราณจึงนิยมนำมาเป็นส่วนหนึ่งของหีบศพหรือไม้ฟืนเผาศพ เพราะว่าไม้จันทน์เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอมและสามารถบรรเทาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ต่อมามีการคิดค้นดอกไม้ประดิษฐ์จากการใช้ไม้จันทน์มาสู่ดอกไม้จันทน์สำหรับใช้ในพิธีศพของบุคคลชั้นสูงและการนำแนวคิดประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จาก “ชาววังสู่ชาวบ้าน” จึงมีการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์สำหรับใช้ในพิธีการเผาศพของสามัญชน เมื่อไม้จันทน์หายากจึงได้นำไม้ชนิดอื่นมาทดแทนและประดิษฐ์ในรูปแบบของดอกไม้ประดิษฐ์มาเป็นสิ่งทดแทนเพื่อสะดวกในการใช้งาน เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” หรือ “ดอกไม้จันทน์เทียม” ไม้ที่นิยมนำมาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ได้แก่ ไม้โมก ไม้มะม่วงป่า ไม้ฉำฉา เป็นต้น  การทำดอกไม้จันทน์ในปัจจุบันมีหลายลักษณะ อาทิเช่น เป็นดอกกุหลาบ ดอกแก้ว และดอกไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งเพิ่มความหลากหลายสีสันตามความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันพิธีวางดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความเคารพและไว้อาลัยแก่ผู้ตายได้สร้างบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคมอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
กิ่งแก้ว อัตถากร. ลักษณะพิธีกรรมในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2523.
ขจิตรา เปลี่ยนกลาง และกรัณย์พล วิวรรธมงคล. รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาการใช้ดอกไม้จันทน์ใน พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี, 2559.
ฉลาดชาย รมิตานนท์. ศาสนาและความตาย. กรุงเทพมหานคร : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2548.
ปราณี วงษ์เทศ. พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2534.
พักตร์พิมล ลิ้มเจริญ. รายงานการวิจัยเรื่องผลิตภัณฑ์ดอกไม้จันทน์. นครราชสีมา : สำนักงาน    คณะกรรมการการอาชีวศึกษา, 2554.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น