วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์กับการดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช



บทความวิชาการที่ ๑๕  โดย... พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ กลิ่นละมัย)      
            พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภาคใต้ของประเทศไทย  ซึ่งสูงจากพื้นดินถึงยอดประมาณ ๓๗ วา  ยอดหุ้มด้วยทองคำหนัก ๑๔๑,๙๘๗.๙๘ กรัม หรือ ๙,๓๔๑.๓๑ บาท  บริเวณที่หุ้มทองคำนี้มีทองคำรูปพรรณนาชนิด เช่น แหวน พระพุทธรูป  เป็นต้น  ผูกแขวนไว้ด้วยเส้นลวดทองคำจำนวนมากมาย  จัดเป็นพระเจดีย์    ปูชนียวัตถุที่สำคัญและสูงใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศไทย  ซึ่งสูงเป็นรองจากพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม  
                    พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ตำนานประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  ทรงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชบนหาดทรายแก้วเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๓๐๐ ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังมีอำนาจรุ่งเรืองอยู่บริเวณแหลมมลายู หลักฐานทางโบราณคดีได้ยืนยันว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัย รูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์ที่ได้สร้างขึ้นในครั้งแรกน่าจะเป็นรูปแบบของศิลปะศรีวิชัยเช่นเดียวกับพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งต่อมาในประมาณปี พ.ศ.๑๗๐๐ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จันทรภาณุศรีธรรมราช  กษัตริย์ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช  ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้นพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองเต็มที่ในลังกา  พระภิกษุจากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น นครศรีธรรมราช พม่า เขมร เป็นต้น ได้พากันไปศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกาเป็นจำนวนมากและได้นำเอาพระพุทธศาสนาตามแบบลังกามาเผยแผ่ในบ้านเมืองหรือชุมชนท้องถิ่นของตน ส่วนพระภิกษุชาวนครศรีธรรมราชได้ชักชวนพระภิกษุชาวลังกามาตั้งคณะสงฆ์ลังกาขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช  และได้ช่วยกันบูรณะซ่อมแซมพระบรมธาตุเจดีย์องค์เก่าชำรุดทรุดโทรม  ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ให้เป็นรูปแบบทางศิลปะลังกา  โดยได้รับการอุปถัมภ์ของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จันทรภาณุศรีธรรมราช
                    พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชองค์นี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ในพระ” ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ซึ่งมีชื่อเดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาดูแลวัด  เพราะว่าในอดีตวัดนี้เป็นวัดประจำเมืองนครศรีธรรมราชหรือเป็นวัดประจำราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช  เช่นเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วก็เป็นวัดประจำกรุงรัตนโกสินทร์หรือประจำราชวงศ์จักรี  ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่   เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ทรงมีพระราชดำริว่าวัดพระบรมธาตุ (ชื่อเดิม) ควรที่จะมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาดูแลวัดเป็นประจำ  จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จังหวัดนครศรีธรรมราชนิมนต์พระสงฆ์มาอยู่ประจำและพระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า วัดพระมหาธาตุ หรือวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
            พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จันทรภาณุศรีธรรมราชทรงได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์  สร้างเมืองนครศรีธรรมราช  และสร้างเมืองขึ้นทั้งสิบสองเมืองหรือเมืองสิบสองนักษัตรขึ้นเป็นเมืองบริวารรายรอบศูนย์กลางของอาณาจักรนครศรีธรรมราชหรือหาดทรายแก้วอันศักดิ์สิทธ์  โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธ์ของอาณาจักรนี้   พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จันทรภาณุศรีธรรมราช  ทรงได้เปิดโอกาสให้เมืองสิบสองนักษัตรของพระองค์ได้มีบทบาทอันสำคัญในการเป็นผู้รับผิดชอบหรือทำหน้าที่สร้างสรรค์และทำนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช    ซึ่งได้อาศัยกำลังคนและกำลังทรัพย์เป็นอันมากจากเมืองสิบสองนักษัตรมาบูรณะเสริมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ แต่การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ในครั้นนั้นยังไม่มีส่วนประกอบที่สมบูรณ์ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งได้มีการสร้างเสริมและบูรณะต่อๆ กันมาอีกหลายครั้งจนกว่าจะมีบริวารวัตถุครบครั้น  อย่างไรก็ตามในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  จันทรภาณุศรีธรมราช บริเวณรอบๆ ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นเขตพุทธวาสและจัดระเบียบคณะสงฆ์โดยยืดเอานัยกาภาพยนต์รักษาพระบรมสารีริกธาตุ   การจัดระเบียบคณะสงฆ์ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์อาจจะมาจากสาเหตุว่าพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นพระเจดีย์ที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช   ซึ่งมีคนเคารพนับถือมากที่สุดในอาณาจักรนครศรีธรรมราช   พระสงฆ์ทุกหมู่เหล่าต่างก็แย่งชิงกันเพื่อจะขอมาดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์และอาศัยอยู่ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารที่มีลาภ ยศ สรรเสริญ และผลประโยชน์อย่างมาก  จนเกิดการทะเลาะวิวาทกันใหญ่โตจนชาวบ้านเบื่อหน่ายและในที่สุดพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จันทรภาณุศรีธรรมราชทรงยุติปัญหาการทะเลาะวิวาทของคณะสงฆ์  ด้วยการยกเลิกมิให้พระสงฆ์เหล่าใดเข้ามาอ้างสิทธิเป็นเจ้าของดูแล  แต่เนื่องจากในสมัยโบราณนั้นเมืองนครศรีธรรมราชมีคณะสงฆ์หมู่ใหญ่อยู่  ๔ เหล่าหรือมีพระสงฆ์ลังกาวงศ์อยู่   คณะ   เพื่อความยุติธรรมจึงกำหนดให้คณะสงฆ์เหล่านั้นได้ช่วยกันดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชกันคณะละด้านหรือทิศละคณะ คือ คณะลังกาแก้ว  ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ด้านทิศตะวันออก  คณะลังการาม  ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ด้านทิศใต้  คณะลังกาชาด  ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ด้านทิศตะวันตกและคณะลังกาเดิม  ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ด้านทิศเหนือ  เมื่อแบ่งและกำหนดหน้าที่ให้คณะสงฆ์ทั้ง ๔  คณะรับผิดชอบ  จึงทำให้คณะสงฆ์และบ้านเมืองสงบ  เพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติจึงอนุญาตให้คณะสงฆ์นิกายต่างๆ สามารถตั้งสำนักหรือวัดของตนขึ้นอยู่บริเวณภายนอกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลาง   ดังนั้น จึงได้พบว่ามีวัดเกิดขึ้นมากมายซึ่งตั้งอยู่โดยรอบวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประมาณ ๘๐ กว่าวัด  บางวัดก็ยังปรากฏอยู่  บางวัดก็ได้ร้างไป  ส่วนวัดที่ร้างก็ได้เป็นสถานที่ราชการไปก็มี
            เทพอารักษ์ผู้เฝ้าดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชทั้ง ๔ ทิศ  ซึ่งผู้แต่งตำนานพระพุทธสิหิงค์  ชินกาลมาลีปกรณ์และเอกสารอื่นๆ นำเอาไปใช้ปรุงนิทานของตนให้มีรสชาติสนุกน่าเสื่อมใสศรัทธา   โดยการแปลและเปลี่ยนแปลงภาษาบาลีเสียใหม่อย่างชาญฉลาด  เพื่อแสดงภูมิรู้และความขลังศักดิ์สิทธ์แห่งตำนาน  จากชื่อคณะสงฆ์กลายมาเป็นชื่อเทพเทวดาเฝ้ารักษาพระบรมธาตุเจดีย์  ดังนี้
            ๑. สุมนเทพ คือ คณะลังกาแก้ว  มหาสุมนหรือพระวันรัตน์ คำว่า รัตน์ คือ แก้วหรือขาว ดังภาษาพูดว่า “กาขาว”  เป็นสำนักปัจฉิมภิกษุสงฆ์ที่ไปบวชแปลงมาจากพระวันรัตนมหาเถระประเทศศรีลังกาหรือสิงหล  ฝ่ายพระวันรัตนวงศ์  คณะป่าแก้วหรืออรัญวาสี   จึงมาเป็นลังกาป่าแก้ว แต่ตำนานฝ่ายเหนือเอาไปแปลงเป็น “สุมนเทพ” คือ พระมหาสุมณเถระ ชาวสุโขทัย สถิตวัดป่ามะม่วง  ผู้ซึ่งเดินทางไปบวชแปลงและศึกษาเล่าเรียนพระธรรมปิฎกไตร มาจากสำนักอุทุมพรบุปผามหาสวามีที่เมืองพันแล้วนำพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ไปเผยแผ่ประดิษฐานที่เมืองลำพูน  เชียงใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ จึงต้องการยกย่องพระมหาสุมนะเจ้าในฐานะสุวรรณรัตนมหาสวามี เจ้าสำนักสงฆ์ฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ที่เข้ามาหลังสุดและได้รับการยกย่องกันว่ามีพระธรรมวินัยที่ดีที่สุด ตำแหน่งพระครูกาแก้ว จึงได้รับการแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์สูงเท่าคณะอื่น
            ๒. รามเทพ คือ คณะลังการาม ภาษาพูดเรียกว่า “กาเหลือง” คำว่า ราม มิได้แปลว่า พระรามหรือพระนารายณ์  ตามที่นักวิชาการสันนิษฐานกัน  แต่มาจากคำว่า รามัญ-รามญฺญ หรือพระสงฆ์ฝ่ายรามัญสมณวงศ์ คือ พวกพระสงฆ์มอญผู้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นรามัญสถาน มีคนมอญได้เป็นเจ้าเมืองก็มีและเป็นผู้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ก่อนใครบนแหลมมลายูอันยาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนาและไม่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์
            ๓. ลักขณเทพ คือ คณะลังกาชาติ ภาษาพูดว่า กาแดง คำว่าลักขณหรือลักษณะ คือเชื้อชาติ  (Race) ประเภทเครื่องแสดงอันเป็นเครื่องหมาย เพราะมีพระสงฆ์ชาวลังกาหลายรูปที่มีชื่อเสียง ได้เข้ามาตั้งสำนักเผยแผ่พระศาสนาขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องด้วยเป็นเมืองที่มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่ลำบากยากแค้นเหมือนเมืองลังกา อีกทั้งเจ้าเมืองเป็นผู้อุปถัมภ์เป็นพิเศษ จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากและเป็นที่มาของชื่อหมู่คณะ
            ๔.  กามเทพ คือ คณะลังกาเดิม ในชินกาลมาลีปกรณ์แปลงเป็นขัตตคามและที่ป้ายใต้รูปเทพทางซ้ายมือบันไดขึ้นลานประทักษิณองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นขัตตุคาม คณะลังกาเดิมภาษาพูดเรียกว่า “กาดำ”  เป็นสำนักปุริมภิกษุสงฆ์หรือเป็นคณะที่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาก่อนคณะใดๆ เป็นพวกนิกายเชื้อสายดังเดิม  เริ่มตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิที่พระโสณเถระและพระอุตตรเถระนำเข้ามา ตลอดทั้งคณะที่เคยไปบวชแปลงมาตั้งแต่ลังกาสมัยก่อนแล้วหลายรุ่น  คณะสงฆ์กลุ่มนี้เป็นพวกกลุ่มใหญ่มีบทบาทที่สำคัญต่อกษัตริย์และบ้านเมืองมาก่อน  เป็นสายเก่าแก่ดังเดิมของเจ้าถิ่น  มีหลายสำนักอาจารย์กระจายอยู่ทั่วไป พระธรรมวินัยหย่อนยานล้าหลัง  บางครั้งวัตรปฏิบัติก็คล้ายไปทางมหายาน ใช้ไสยศาสตร์มีฤทธิ์มากมีคนขึ้นมาก  พระสงฆ์ฝ่ายมหายานที่เหลืออยู่อาจจะแฝงตัวเข้ามาอยู่ในคณะนี้ด้วยก็ได้
            ผู้แต่งนิทานพระพุทธสิหิงค์และชินกาลมาลีปกรณ์แห่งล้านนา ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์เรื่องราวของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอย่างดี  จึงแปลงถ้อยคำในการถ่ายทอดลงเป็นภาษาบาลีอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา  มีเหตุผลแม้จะขยายความยักเยื้องออกไปบ้าง หากเราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและตีตำนานจึงหลงทางและไม่เข้าใจเรื่องราวดังกล่าว
            คำว่า กา เป็นคำพื้นเมืองปักษ์ใต้ที่ย่อมาจากคำว่า ลังกา เพราะคนพื้นเมืองนิยมพูดตัดคำให้สั้นอันหมายถึงพระสงฆ์ลังกาวงศ์ทั้ง ๔ คณะ คือ กาแก้ว การาม กาชาดและกาเดิม ซึ่งมีต้นแบบของลัทธิอยู่ที่ประเทศศรีลังกาที่นิยมเรียกว่า ลัทธิลังกาวงศ์ ที่ผู้แต่งตำนานล้านนาแปลงให้มาเป็นเทพอารักษ์ประจำบ้านเมือง  ประจำองค์พระพุทธสิหิงค์หรือเฝ้ารักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์นั้น ล้วนเป็นชื่อคณะสงฆ์ในลัทธิลังกาวงศ์ทั้งสิ้น   ซึ่งในศรีลังกาไม่มีเทพเหล่านี้  เพราะว่าเป็นชื่อนิกายคณะสงฆ์พิเศษที่เกิดมีขึ้นใหม่โดยเฉพาะสำหรับเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และไชยาเท่านั้น
            ส่วนสาเหตุที่สร้างรูปแบบเฝ้าองค์พระบรมธาตุไว้เพียง ๒ องค์ คือ ขัตตุคามกับรามเทพ ไม่สร้างให้ครบ    องค์  ความจริงมีว่าเนื้อที่ข้างบันไดขึ้นลานประทักษิณ  สร้างรูปเคารพท้าวจตุโลกบาล รูปสิงห์ ราชสีห์ และหมี ซึ่งมักจะสร้างไว้เป็นคู่เดียวพอเป็นเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้น การคัดเอาชื่อขัตตุคามและรามเทพมาใช้   ซึ่งนอกจากเป็นชื่อที่คล้องจองกันดีแล้ว ข้อเท็จจริงพระสงฆ์   คณะนี้ยังถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติยศพิเศษ  เพราะมีบทบาทโดยตรงต่อการสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช  ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มปรากฏอยู่ในตำนาน กล่าวคือคนรามัญหรือมอญเป็นผู้สร้างเมืองสร้างองค์พระธาตุเป็นปฐมและพระสงฆ์ลังกาเป็นผู้บุกเบิกก่อกำเนิดลัทธิลังกาวงศ์  ณ เมืองนครศรีธรรมราช  จนมีชื่อเสียงไปทั่วสยามประเทศ
            นอกจากกาทั้ง ๔  เหล่าและเทพทั้ง ๔  องค์ที่เฝ้าดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชแล้วยังมีเทวดาอีก    องค์ที่เฝ้าดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช คือ ท้าวจตุโลกบาลหรือเทวดาประจำทิศทั้ง   ที่สร้างรูปเทวดาเฝ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชไว้   องค์ ภายในวิหารทรงม้าข้างบันไดซ้ายขวาขึ้นลานประทักษิณ  ซึ่งสร้างรูปเทวดาเฝ้าดูแลรักษาพระบรมเจดีย์นครศรีธรรมราชที่สำคัญไว้    องค์ ได้แก่  ท้าวรตรฐ  ท้าววิรูปักษ์  ท้าววิรุฬหก   และท้าวเวสสุวรรณ   ซึ่งท้าวรตรฐ เป็นเทวดาผู้มีบุญญานุภาพมาก มีรัศมีมาก มีฤทธิ์มากและปกครองหมู่คนธรรณ์ มีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชทางด้านทิศตะวันออก  ท้าววิรูปักษ์เป็นเทวดาผู้มีบุญญานุภาพมาก  มีรัศมีมาก มียศมากและปกครองหมู่นาค   มีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชทางด้านตะวันตก  ท้าววิรุฬหก เป็นเทวดาที่มีบุญญานุภาพมาก มีรัศมี  มียศมากและปกครองหมู่กุมภัณฑ์ (พวกกายทิพย์ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดพิกล)  มีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชทางด้านทิศตะวันตก และท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวร  เป็นเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่  มีบุญญานุภาพมาก  มีรัศมีมาก มียศมากและปกครองหมู่ยักษ์  มีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชทางด้านทิศเหนือ  ดังมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในอาฏานาฏิยสูตรว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์ ครั้งนั้นท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ วางยามรักษาการณ์ไว้ทั้ง ๔  ทิศ วางกองกำลังไว้ทั้ง ๔ ทิศ  ด้วยกองทัพยักษ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพคนธรรณ์หมู่ใหญ่  ด้วยกองทัพกุมภัณฑ์หมู่ใหญ่และด้วยกองทัพนาคหมู่ใหญ่ ในขณะเมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว มีวรรณะงดงาม เปล่งรัศมีให้สว่างไสวทั่วภูเขาคิชกูฏแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้วพากันประทับนั่งอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง   เนื่องจากท้าวจตุโลกบาลหรือเทวดาที่สำคัญประจำทิศทั้ง ๔ ที่เคยเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ในครั้งทรงพระชนม์ชีพอยู่ เทวดาเหล่านี้จะตามรักษาคุ้มครองพระพุทธศาสนา รักษาคุ้มครองพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช  รักษามนุษย์โลกผู้มีศีลและประพฤติธรรมไว้ในทิศทั้ง ๔  และมีหน้าที่ป้องกันร้ายอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์โลกทั้งหลายอีกด้วย
  
เอกสารอ้างอิง
ก่องแก้ว  วีระประจักษ์, “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช”,  ศิลปากร,
             ฉบับปีที่ ๓๗ กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๓๗) : ๔.  
ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์, เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร,  กรุงเทพมหานคร : ดวงกมลพับลิชซิ่ง, ๒๕๕๕.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, “อาฏานาฏิยสูตรว่าด้วยมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ”, ในพระไตรปิฎก
               ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑๑, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลง  
               กรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น