เรื่อง... พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์กับการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือกันว่าผู้ใดได้มาทำการสักการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้
ย่อมเกิดความเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและครอบครัวหาที่สุดมิได้ นอกจากนี้แล้วบรรดาพุทธศาสนิกชนชาวปักษ์ใต้ก็ถือว่าเป็นมงคลสูงสุดอย่างน้อยที่สุดก็ครั้งหนึ่งในชีวิตขอให้ได้มาสักการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้นับว่าเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภาคใต้
ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามคติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่าสูงตั้งแต่พื้นดินถึงยอด
๓๗ วา ๗ ศอก ยอดหุ้มด้วยทองคำหนัก ๘๐๐
ชั่ง หรือประมาณ ๒๑๖ กิโลกรัม
(ส่วนที่หุ้มทองคำสูง ๖ วา ๒ ศอก ๑ คืบ)
บริเวณที่หุ้มทองคำนี้ยังมีทองรูปพรรณนานาชนิด เช่น พระพุทธรูปแหวน
กำไล ต่างหู เป็นต้น
ผูกแขวนไว้ด้วยเส้นลวดทองอีกเป็นจำนวนมาก
จัดเป็นพระเจดีย์ปูชนียวัตถุที่มีขนาดสูงใหญ่เป็นลำดับที่สองของประเทศไทย ซึ่งมีความสูงเป็นรองลงมาจากพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งสูง ๖๐ วา หรือ ๓
เส้นเศษ ถ้าจะกล่าวถึงความเก่าแก่กันแล้วพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเก่าแก่กว่าพระปฐมเจดีย์
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตร กล่าวว่า
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๑๓๐๐ ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังมีอำนาจรุ่งเรืองอยู่แถบแหลมมลายู
หลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าเมืองนครศรีธรรมราชก็อยู่ในอาณาจักรศรีวิชัยรูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งสร้างเมื่อครั้งแรกจึงเป็นรูปแบบศิลปะศรีวิชัยเช่นเดียวกันกับพระบรมธาตุเมืองไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในประมาณพุทธศักราช ๑๗๐๐ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยนั้นพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์กำลังเจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ในลังกา พระภิกษุจากประเทศใกล้เคียง เช่น
ไทย พม่า ลาว เขมร เป็นต้น
ได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในเกาะลังกาเป็นจำนวนมาก จึงได้นำเอาพระพุทธศาสนาตามแบบลังกามาเผยแผ่ในบ้านเมืองของตนรวมทั้งเมืองนครศรีธรรมราชที่ได้ชักชวนพระภิกษุชาวลังกาเดินทางมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช
เมื่อพระภิกษุชาวลังกามาเห็นพระมหาธาตุเจดีย์องค์เก่าชำรุดทรุดโทรมจึงได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
แต่มิได้ทำลายพระเจดีย์องค์เก่าเพียงแต่ก่อพระเจดีย์องค์ใหม่ตามแบบอย่างของศิลปะแบบลังกาหุ้มครอบพระเจดีย์องค์เดิมไว้
เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงให้ก่อพระเจดีย์ครอบพระปฐมเจดีย์องค์เก่าไว้
จากเอกสารตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและพระนิพพานโสตรสามารถประมวลได้ว่ากำเนิดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้ทรงสร้างว่า
จากเอกสารตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและพระนิพพานโสตรสามารถประมวลได้ว่ากำเนิดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้ทรงสร้างว่า
“พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชหรือโศกราชหรือธรรมโศกหรือศรีธรรมโศกหรือ
ธรรมโศกราชแห่งเมืองเอาวราชหรืออวดีหรือสวัสดีราช
พร้อมพระนนทราชาพระอนุชาได้ทรงอพยพผู้คนหนีไข้ห่าลงมาทางใต้ มาตั้งถิ่นฐานที่เขาชวาปราบ เขาวังและลานตะกาหรือลานตอกาหรือลานสกา และหาดทรายแก้วตามลำดับ แม้ว่าจะทรงอพยพผู้คนหนีไข้ห่าบ่อยครั้งก็ไม่สามารถหนีไข้ห่าได้ จนต้องทำพิธีทำ “เงินตรา นโม”
เพื่อแก้ไข้ห่าตามคำของพระอรหันต์
เมื่อทรงแก้ไข้ห่าได้สำเร็จก็รับสั่งให้เตรียมการขุดหาพระบรมสารีริกธาตุ ณ
หาดทรายแก้ว
โดยมีเจ้ากากภาษาจากเมืองโสมพิสัยเป็นผู้ช่วยเหลือในการแก้ภาพยนตร์
ซึ่งเฝ้าอยู่ที่ตึกอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
นอกจากนี้เทวดาและท้าวนาคาได้ช่วยในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและสร้างเมือง
ณ หาดทรายแก้วจนสำเร็จ..”
ในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
ตำนานทั้งสองนี้ได้สะท้อนให้เห็นตรงกันว่าเมืองขึ้นทั้งสิบสองเมืองหรือเมืองสิบสองนักษัตรได้
“มาช่วยทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุขึ้น”
แต่ต้องประสบกับปัญหาที่สำคัญคือการเกิดไข้ห่าผู้คนล้มตายเมืองร้างอยู่เป็นเวลานาน
แต่ต่อมาได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้สืบต่อมาดังความบางตอนในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
ดังนี้
“จึงพระวิศณุกรรมช่วยพระญาก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุนั้นไว้
แล้วตั้งเมืองสิบสองนักษัตรขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ปีชวดตั้งเมืองสายถือตราหนูหนึ่ง ปีฉลูเมืองตานีถือตราโคหนึ่ง ปีขาลเมืองกะลันตันถือตราเสือหนึ่ง ปีเถาะเมืองปาหังถือตรากระต่ายหนึ่ง ปีมะโรงเมืองไทรถือตรางูใหญ่หนึ่ง ปีมะเส็งเมืองพัทลุงถือตรางูเล็กหนึ่ง ปีมะเมียเมืองตรังถือตราม้าหนึ่ง ปีมะแมเมืองชุมพรถือตราแพะหนึ่ง ปีวอกเมืองบันท้ายสมอถือตราลิงหนึ่ง ปีระกาเมืองอุเลาถือตราไก่หนึ่ง ปีจอเมืองตะกั่วป่าถือตราสุนัขหนึ่ง ปีกุนเมืองกระถือตราหมูหนึ่ง เข้ากัน ๑๒
เมืองมาช่วยทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุขึ้นยังหาสำเร็จไม่”
จากข้อความที่ยกมานี้แสดงให้เห็นว่าหลังจากที่พระอินทร์ได้ทรงส่งพระวิษณุกรรมลงมาช่วยเหลือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ทรงตั้งเมืองขึ้นสิบสองนักษัตร
คือ เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันท้ายสมอ เมืองสะอุเลา เมืองตะกั่วถลาง และเมืองกระบุรี เพื่อการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชแต่ก็ยังไม่สำเร็จ
ในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มีหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งมวลได้มาช่วยเหลือ
หากเมืองใดมาช่วยไม่ทันการก่อสร้างก็ได้ฝั่งทรัพย์สมบัติที่นำมาเป็นพุทธบูชาไว้ตามสถานที่ต่างๆ
เช่น ตามถ้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้พระเจ้ากรุงลังกาและเจ้าเมืองหงสาก็ได้มาช่วยด้วย
เพราะว่าเห็นว่าเป็นพระญาติกัน
ฝ่ายพระเจ้ากรุงลังกานั้นได้มาช่วยเหลือ
เพราะว่าทรงทราบจากพระพุทธทำนายไว้ว่าในปีศักราช ๗๐๐ ปีเศษ
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งหาดทรายแก้วจะทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุและสร้างพระบรมธาตุเจดีย์อีกโสดหนึ่ง
จากการที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสำเร็จจึงเป็นเหตุให้มีหัวเมืองน้อยใหญ่มากมายมาขึ้นในรูปของเมืองสิบสองนักษัตร
ซึ่งทำให้พระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทราบข่าวนี้ด้วยความไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่งทรงรับสั่งให้ราชทูตถือพระราชสารมากราบทูลให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเข้าเฝ้า
แต่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงไม่ยินยอมที่จะเข้าเฝ้า
เพราะทรงเห็นว่าพระองค์มิได้อยู่ภายใต้อำนาจของท้าวอู่ทองแต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะทรงจะทำเช่นนั้น
ในที่สุดจึงได้เกิดศึกสงครามกันระหว่างพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกับท้าวอู่ทอง จึงได้ทำให้ไพร่พลล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงรำพึงว่าพระองค์ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จนับเป็นกุศลมาก จึงไม่ควรที่จะมาก่อเวรกรรมเพราะการศึกสงครามเช่นนี้ ทรงรับสั่งให้เจรจาสงบศึกแล้วแบ่งดินแดนกับท้าวอู่ทองและได้สัญญาเป็นมิตรไมตรีต่อกันสืบไป
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชองค์นี้มีความโดดเด่นของอาณาจักรนครศรีธรรมราช
โดยสัญลักษณ์ที่มีความโดดเด่นมากที่สุดและมองเห็นได้มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ของอิทธิพลพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากศรีลังกาภายในอาณาจักรนครศรีธรรมราช ที่มักจะเรียกโดยทั่วไปว่า “สถูปทรงลังกา”หรือ
“เจดีย์ทรงลังกา”
ซึ่งเป็นสถูปที่ได้ปรากฏขึ้นอย่างแพร่กระจายทั่วทั้งอาณาจักรนครศรีธรรมราชหรือคาบสมุทรสยามหรือคาบสมุทรไทย
และยังปรากฏวิวัฒนาการของสถูปแบบนี้สืบเนื่องมาบนคาบสมุทรแห่งนี้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยสถูปเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้อาศัยสถูปที่เรียกว่า
“พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชองค์นี้ได้สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิและศิลปะแบบลังกา คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
และพุทธที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาลหรือเป็นภูเขาหลักของโลก ซึ่งตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล
สถานที่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ เช่น สัตว์นรก
สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ นาค ครุฑ ยักษ์ มาร
คนธรรพ์ ฤๅษี และเทวดา โดยมีปลาอานนท์หนุนอยู่รอบๆ เขาพระสุเมรุ
ตำนานประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชพระองค์ก่อนทรงเป็นผู้สร้างพระเจดีย์องค์นี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ไว้บนหาดทรายแก้ว เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๓๐๐ ตรงกับสมัยศรีวิชัย
ซึ่งสันนิษฐานกันว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับพระบรมธาตุไชยา
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีสระน้ำล้อมรอบองค์พระเจดีย์ซึ่งก็ตรงกันกับคติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณที่เชื่อว่าภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช บริเวณฐานของพระบรมธาตุเจดีย์มีสระน้ำขนาดกว้างยาว
๔ วา ลึก ๕ วา รองด้วยหินก้อนใหญ่และฉาบทาด้วยปูนเพชร ภายในสระน้ำใหญ่มีสระน้ำเล็กขนาดกว้างยาว ๒
วา ลึก ๒ วา
และมีขันทองลอยน้ำอยู่
ซึ่งภายในขันทองนั้นบรรจุผอบทองที่มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีน้ำล้อมรอบอย่างพระบรมธาตุไชย
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชหรือการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชที่มีคูน้ำล้อมรอบ อันเป็นการแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่มีมหานทีสีทันดรล้อมรอบ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๗๐๐ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุกษัตริย์ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชทรงได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ขึ้นมาใหม่ครอบลงบนองค์เดิมตามศิลปะลังกาที่มีคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ
คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิหรือไตรโลกที่มีมาลัยเถาหรือมาลัยลูกแก้วสามชั้นที่บริเวณปากระฆังรองรับองค์ระฆัง มาลัยชั้นที่หนึ่ง หมายถึงกามภูมิ มาลัยชั้นที่สอง หมายถึงรูปภูมิ และชั้นที่สาม หมายถึงอรูปภูมิ ภายในวิหารมหาภิเนษกรมณ์หรือวิหารพระม้า ซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นเป็นป่าหิมพานให้เป็นสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชอันเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ ในจำนวนสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแดนที่อยู่ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้ซึ่งรักษาคุ้มครองโลก ได้แก่ ท้าวธตรฐ รักษาคุ้มครองโลกด้านตะวันออก ทำหน้าที่ปกครองคนธรรพ์ ท้าววิรุฬหก รักษาคุ้มครองโลกด้านทิศใต้ ทำหน้าที่ปกครองกุมภัณฑ์ ท้าววิรูปัก รักษาคุ้มครองโลกด้านตะวันตก ทำหน้าที่ปกครองพญานาค และท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ รักษาคุ้มครองโลกด้านเหนือ ทำหน้าที่ปกครองยักษ์ ส่วนล้านประทักษิณและองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นยอดเขาพระสุเมรุ บนยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีเทพนครชื่อว่านครไตรตรึงษ์ มีพระอินทร์เทวราชเป็นผู้ปกครองทำหน้าที่อภิบาลและพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ สวรรค์ชั้นนี้จึงเป็นที่ประทับของเทพทั้ง ๓๓ องค์ ปล้องไฉนที่อยู่เหนือเสาหานและพระเวียนมีจำนวน ๓๓ ปล้อง อันเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวกับที่ประทับของเทพ ๓๓ องค์ ปทุมโกศมีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหาย โดยหุ้มด้วยทองคำตั้งแต่ส่วนนี้ไปจนถึงปลายสุดที่เรียกว่า ปลียอดทองคำ ส่วนนี้อาจหมายถึงเจดีย์จุฬามณีที่ประดิษฐานพระเกศธาตุและพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งพระอินทร์สร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิหรือไตรโลกที่มีมาลัยเถาหรือมาลัยลูกแก้วสามชั้นที่บริเวณปากระฆังรองรับองค์ระฆัง มาลัยชั้นที่หนึ่ง หมายถึงกามภูมิ มาลัยชั้นที่สอง หมายถึงรูปภูมิ และชั้นที่สาม หมายถึงอรูปภูมิ ภายในวิหารมหาภิเนษกรมณ์หรือวิหารพระม้า ซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นเป็นป่าหิมพานให้เป็นสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชอันเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ ในจำนวนสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแดนที่อยู่ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้ซึ่งรักษาคุ้มครองโลก ได้แก่ ท้าวธตรฐ รักษาคุ้มครองโลกด้านตะวันออก ทำหน้าที่ปกครองคนธรรพ์ ท้าววิรุฬหก รักษาคุ้มครองโลกด้านทิศใต้ ทำหน้าที่ปกครองกุมภัณฑ์ ท้าววิรูปัก รักษาคุ้มครองโลกด้านตะวันตก ทำหน้าที่ปกครองพญานาค และท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ รักษาคุ้มครองโลกด้านเหนือ ทำหน้าที่ปกครองยักษ์ ส่วนล้านประทักษิณและองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นยอดเขาพระสุเมรุ บนยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีเทพนครชื่อว่านครไตรตรึงษ์ มีพระอินทร์เทวราชเป็นผู้ปกครองทำหน้าที่อภิบาลและพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ สวรรค์ชั้นนี้จึงเป็นที่ประทับของเทพทั้ง ๓๓ องค์ ปล้องไฉนที่อยู่เหนือเสาหานและพระเวียนมีจำนวน ๓๓ ปล้อง อันเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวกับที่ประทับของเทพ ๓๓ องค์ ปทุมโกศมีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหาย โดยหุ้มด้วยทองคำตั้งแต่ส่วนนี้ไปจนถึงปลายสุดที่เรียกว่า ปลียอดทองคำ ส่วนนี้อาจหมายถึงเจดีย์จุฬามณีที่ประดิษฐานพระเกศธาตุและพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งพระอินทร์สร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในช่วงระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์รุ่งโรจน์ขึ้นในอาณาจักรนครศรีธรรมราชนั้น ได้มีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บริเวณหาดทรายแก้วอันเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ของความศักดิ์สิทธิ์และศูนย์กลางของอาณาจักรนครศรีธรรมราช ศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรนี้ได้กลับกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรที่แพร่กระจายไปปรากฏขึ้นในสถานที่ต่างๆ
ภายในอาณาจักรที่มีสภาพที่มีภูมิประเทศศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหาดทรายแก้ว
ในปัจจุบันนี้ยังคงปรากฏสถูปดังกล่าวอยู่หลายแห่ง สถูปที่สำคัญแห่งแรก ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เป็นสถูปทรงลังกาขนาดสูงประมาณ ๗๗ เมตร
เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน ๒๒.๙๘ เมตร
ยอดหุ้มด้วยทองคำสูง ๘.๒๙๔ เมตร
สร้างด้วยรูปแบบสถูปทรงลังกา
จากรูปแบบทางศิลปะที่ปรากฏในปัจจุบันมีอายุอยู่ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
ตำนานที่กล่าวมาได้กล่าวว่าได้มีการสร้างสถูปองค์นี้เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์เหมือนอย่างเจดีย์ในอินเดีย ศรีลังกาและดินแดนอื่นๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าสถูปองค์นี้จะได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังคงแสดงให้เห็นว่าในขั้นต้นคงจะได้รับอิทธิพลจากต้นแบบที่เป็นสถูปในศิลปะแบบโปโลนนารุวะของศรีลังกา โดยเฉพาะสถูปกิริเวเหระ (Kirivehera) ในโปโลนนารุวะ
เมืองหลวงเก่าของศรีลังกา
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นสถูปที่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยรอบฐานมีการแบ่งเป็นช่องๆ
แต่ละช่องมีช้างโผล่ส่วนหัวออกมา โดยระหว่างซุ้มหัวช้างเหล่านี้มีซุ้มเรือนแก้วที่ภายในเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่ ส่วนฐานนี้ได้รับการสร้างหลังคาคลุมไว้โดยรอบเรียกว่า
“ทับเกษตร”
ถัดขึ้นไปทางด้านบนเป็นส่วนของลานประทักษิณที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วมีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ
คือ
ตั้งอยู่ภายในวิหารพระทรงม้าที่มุมทั้งสี่ของลานประทักษิณมีสถูปจำลองทรงลังกาสร้างไว้มุมละองค์ ตรงกลางลานประทักษิณเป็นส่วนของปากระฆังของสถูปองค์นี้ โดยปากระฆังติดกับพื้นลานประทักษิณ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนองค์ระฆังทรงกลมที่มีปากระฆังผายออกเล็กน้อยเหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมทรงสูง ด้านข้างบัลลังก์แต่ละข้างมีเสาประดับอยู่สลับกันกับช่องว่าเป็นช่องๆ
ด้านบนของบัลลังก์ผายออก ตรงกลางบัลลังก์เป็นเสาหานประดับอยู่เป็นรูปวงกลม
จำนวน 8 ต้น
เสาแต่ละต้นประดิษฐานพระอรหันต์ปูนปั้นต้นละองค์ ถัดขึ้นไปทางด้านบนเป็นส่วนยอดของสถูปที่ทำเป็นรูปวงกลมเป็นปล้องๆ เรียกว่า “ปล้องไฉน” จนกระทั่งถึงประทุมโกศทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหาย โดยหุ้มด้วยทองคำตั้งแต่ส่วนนี้ไปจนถึงปลายยอดสุดที่เรียกว่าปลียอดทองคำ
แห่งที่สอง สถูปวัดเจดีย์งาม เป็นสถูปที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดเจดีย์งาม ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด
จังหวัดสงขลา เป็นรูปทรงลังกาที่ตั้งอยู่บนฐานสูงคล้ายมณฑป แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากสถูปในศิลปะศรีวิชัยอยู่บ้าง
แต่ก็ได้มีการบูรณะมาแล้วหลายครั้งจนเค้าเดิมปรากฏอยู่น้อยและได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นส่วนใหญ่ แห่งที่สาม
สถูปวัดสวี เป็นสถูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดสวี ตำบลสวี
อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
เป็นสถูปที่สร้างขึ้นโดยอาศัยรูปแบบของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช แห่งที่สี่ เจดีย์ยักษ์ เป็นสถูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเจดีย์ยักษ์
(ร้าง) ภายในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
ถนนราชดำเนิน ตำบล ท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถูปทรงลังกาที่มีขนาดใหญ่ มีฐานสูงรูปสี่เหลี่ยม
ถัดขึ้นไปเป็นปากระฆังที่มีการสร้างเป็นลวดบัวทรงกลมซ้อนกันหลายชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงสูง เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม
เสาหาน ปล้องไฉนและส่วนยอดที่เรียวแหลม
โดยส่วนยอดสุดหักไป แห่งที่ห้า สถูปวัดเขียนบางแก้ว เป็นสถูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเขียนบางแก้ว
ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
เป็นสถูปที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม ฐานสูง บริเวณฐานมีซุ้มพระพุทธรูป ระหว่างซุ้มมีช้างโผล่หัวออกมา เหนือส่วนฐานขึ้นไปเป็นรูปคล้ายคลึงกันกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชและเป็นสถูปที่ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง แห่งที่หก สถูปวัดจะทิ้งพระ เป็นสถูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดจะทิ้งพระ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิ้งพระ จังหวัดสงขลา เป็นสถูปที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกันกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
แต่มีการบูรณะหลายครั้งจนรูปแบบเปลี่ยนแปลงลงไปมากในระยะหลัง ทางด้านใต้ของสถูปองค์ใหญ่มีสถูปทรงกลมเล็กๆ
เรียงรายอยู่หลายองค์ และแห่งที่เจ็ด สถูปวัดพะโคะ เป็นสถูปที่ตั้งอยู่บนเนินเขาภายในวัดพะโคะ
ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นสถูปทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยม มีช้างล้อม
ส่วนฐานมีลานประทักษิณเรียงกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ จำนวน ๓ ชั้น และมีสถูปจำลองอยู่ที่มุมทั้งสี่ของลานประทักษิณ
แผนผังโดยรวมมีความคล้ายคลึงกันกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนา ตำนานประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชองค์ก่อนทรงสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบนหาดทรายแก้ว ตามแบบศิลปะศรีวิชัยต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุทรงสร้างเจดีย์แบบศิลปะลังกาครอบองค์เดิม
คติความเชื่อในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ผู้ทรงสร้างตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาลหรือหลักของโลกและทรงสร้างตามแบบศิลปะลังกาที่มีฐานสี่เหลี่ยมทรงสูง มีช้างล้อม
เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำหรือโอคว่ำ มีบัลลังก์ เสาหาน ปล้องไฉน และปลียอดทองคำ ซึ่งมีความสูง ๓๗ วา ๗ ศอกหรือสูงประมาณ ๗๗
เมตร ยอดหุ้มด้วยทองคำหนัก ๘๐๐ ชั่ง
หรือประมาณ ๒๑๖ กิโลกรัม
ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นต้นแบบพระเจดีย์องค์อื่นๆ
ในภาคใต้และใกล้เคียง เช่น
พระธาตุวัดเขียนบางแก้ว เจดีย์วัดสวี เป็นต้น
บรรณานุกรม
ชวน เพชรแก้วและปรีชา นุ่นสุข, (๒๕๒๐), “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช”,
ในกำแพงเมืองเมืองมรดก
ทางวัฒนธรรมของชาวนคร, สงขลา : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช.
ปรีชา
นุ่นสุข, (๒๕๓๐), พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช,
กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์.
พระครูปลัดวิริยวัฒน์,
(๒๕๐๙), “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช”, ในที่ระลึกในการถวาย
ผ้ากฐินพระราชทาน ณ
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช, กรุงเทพมหานคร :
กรมชลประทานกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ.
กรมชลประทานกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ.
ยงยุทธ วรรณโกวิท, (๒๕๔๑), ทองคำที่ใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์
นครศรีธรรมราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง
จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่าง
พ.ศ. ๒๕๓๗ -๒๕๓๘, กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร.
สุภัทรดิศ ดิศกุล และสันติ เล็กสุขุม, (๒๕๔๓), เที่ยวดงเจดีย์ที่พม่าประเทศทางประวัติศาสตร์ศิลปะและ
วัฒนธรรม, กรุงเทพมหานคร : มติชน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น