พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต)
บทนำ
ตำนานนางเลือดขาวหรือเพลานางเลือดขาวเดิมเป็นตำนานมุขปาฐะที่เล่าสืบทอดต่อๆ
กันมา จนต่อมานักปราชญ์หรือผู้รู้ในท้องถิ่นจึงได้คิดรวบรวมจารลงบนกระดาษเพลา
(เพลา คือ ตำรา ตำนาน
และพระราชกำหนดที่ได้แต่งขึ้นหรือตราไว้เป็นหลักฐานสำคัญเขียนลงสมุดข่อยเป็นหนังสือคู่วัดหรือคู่บ้านคู่เมือง)
แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากตำนานนางเลือดขาวแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในท้องถิ่นภาคใต้
ตลอดแหลมมลายูในรูปคำบอกเล่าที่มีความแตกต่างและเหมือนกันในบางท้องถิ่น
จากการศึกษาและสำรวจข้อมูลภาคสนามของชัยวุฒิ พิยะกูล พบว่าตำนานนางเลือดขาวมีแพร่กระจายอยู่ในจังหวัดชุมพร
นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง ภูเก็ต และรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย
ซึ่งผู้คนได้เล่าสืบทอดกันมายาวนานจนกลายเป็นตำนานประจำถิ่น
ตำนานนางเลือดขาว (พัทลุง)
สะท้อนให้เห็นตำนานท้องถิ่นบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และบริเวณใกล้เคียงที่เกี่ยวกับเมืองสทิงพระและเมืองพัทลุง
อันเป็นหลักฐานทางด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี พระพุทธศาสนา
และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดที่เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู
และความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา อันเป็นสัญลักษณ์ของสตรีที่ดีและสตรีที่เป็นผู้นำของชุมชน
ในอดีตกาลพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๒๗๓ ปี
ณ ชมพูทวีป ประเทศอินเดีย
เมื่อพระเจ้าพินธุสารเสด็จสวรรคตโอรสของพระองค์เกิดการแก่งแย่งราชสมบัติมีการรบราฆ่าฟันกันในหมู่พระราชวงศ์
ในที่สุดอโศกกุมารมีชัยได้ราชสมบัติครอบครองเมืองปาฎลีบุตรแห่งแคว้นมคธ
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วได้ทรงขยายแสนยานุภาพของอาณาจักรมคธให้แผ่ไพศาล
โดยการทำสงครามปราบปรามแคว้นต่างๆ ไว้ในอำนาจ สงครามครั้งสำคัญ
คือสงครามปราบแคว้นกลิงคราษฎร์ ในสงครามครั้งนั้นได้มีการรบราฆ่าฟันผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมากมายทำให้ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลของสงครามพากันลงเรืออพยพออกนอกอาณาจักรผ่านทะเลอันดามัน
แล้วแยกย้ายกันขึ้นฝั่งทางด้านฝั่งทิศตะวันตกของภาคใต้ประเทศไทย
ได้มีชาวอินเดียบางส่วนขึ้นฝั่งที่ “ท่าประตูทะเล”
หรือ “ท่าประตูเล” (อำเภอปะเหลียน
จังหวัดตรัง) แล้วเดินข้ามแดนทางช่องเขาบรรทัดผ่านเมืองตระแล้วแยกย้ายเป็น ๒ สาย
คือ
สายที่ ๑
เดินทางแยกไปทางทิศใต้จนถึงเขาปัจจันตระ (เขาจันทน์) แล้วล่องเรือลงตามลุ่มน้ำ
ฝาละมีมาขึ้นฝั่งเข้าอาศัยอยู่ที่ “หน้าท่าทิดครู”
(บ้านท่าทิดครู ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง)
สายที่ ๒
เดินทางแยกไปทางทิศเหนือเลียบเชิงเขาจนถึงบ้านโหมด เข้าอาศัยอยู่ในถ้ำไม้ไผ่ตง
และถ้ำไม้ไผ่เสรียงเรียกสถานที่นั้นว่า
“ที่โมชฬะ” หรือ “ที่ปราโมทย์”
ต่อมาเพี้ยนเป็น “ตะโหมด” (อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง)
ในครั้งนั้นยังมีตายายสองผัวเมีย คือ
ตาสามโมกับยายเพชร อยู่ที่ตำบลปละท่า ทิศตะวันตกของทะเลสาบสงขลา คือ บ้านพระเกิด
ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ตาสามโมเป็นหมอสดำหรือหมอช้างขวา
เป็นผู้ที่มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกหัดสำหรับส่งให้เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี
ปีละ ๑ เชือก เรียกสถานที่นั้นว่า “ที่คช”
หรือ “ที่ส่วยช้าง” มีอาณาเขตถึงบ้านท่ามะเดื่อ
ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
ครั้งหนึ่งตายายทั้งสองได้เดินทางไปจับช้างป่า
จนถึงถิ่นปราโมทย์พบชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตงได้รู้จักสนิทสนมกันเป็นอย่างดี
ชาวอินเดียได้ยกบุตรีให้ตายายคนหนึ่ง ตายายทั้งสองได้รับไว้เป็นบุตรบุญธรรม
นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านพระเกิดให้ชื่อว่า “นางเลือดขาว”
เพราะเป็นผู้ที่มีผิวกายขาวกว่าชาวพื้นเมือง
อยู่ต่อมาไม่นานตายายทั้งสองมาคิดคำนึงว่าควรจะหาบุตรชายชาวอินเดียไว้สักคนหนึ่ง
เพื่อเป็นคู่ครองของนางเลือดขาวในเวลาต่อไป
จึงเดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ที่ถ้ำไม้ไผ่เสรียง
ไว้เป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่า “กุมาร”หรือ“เจ้าหน่อ”
วันหนึ่งช้างพังตลับของตาสามโมได้หายไปจากบ้านถึง
๑๕ วัน ตาสามโมจึงออกเดินทางติดตามช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านพระเกิด จนถึงคลองบางแก้วก็ไปพบช้างพังนอนทับขุมทรัพย์ไว้
ตาสามโมจึงนำทรัพย์บางส่วนและช้างกลับบ้านพระเกิด
ปรึกษากับยายเพชรเพื่อสะดวกต่อการรักษาทรัพย์สมบัติเห็นควรที่จะย้ายบ้านไปอยู่ที่บางแก้ว
แต่ยังไม่ได้ดำเนินการโยกย้ายในทันที อยู่ต่อมาอีกหลายปีจนกระทั่งบุตรทั้งสองมีอายุได้
๑๙ ปี
ตายายทั้งสองจึงจัดพิธีให้นางเลือดขาวกับกุมารแต่งงานเป็นสามีภรรยาแล้วจึงโยกย้ายจากบ้านพระเกิดไปยังบางแก้วโดยนางเลือดขาวกับกุมารขี่ช้างพังตลับ
มีควาญช้างชื่อนายแก่นคง ตาสามโมกับยายเพชรขี่ช้างพลายคชวิชัย
มีควาญช้างชื่อหมอสีเทพ ออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงบางแก้ว
จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กับขุมทรัพย์
อยู่ต่อมาไม่นานตาสามโมกับยายเพชรก็ถึงแก่กรรม
กุมารกับนางเลือดขาวได้ทำการฌาปนกิจศพเสร็จแล้ว
นำอัฐิไปฝังไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์และได้สร้างรูปพระฤาษีตาไฟไว้เป็นอนุสรณ์รูปหนึ่ง
แล้วจึงเดินทางกลับบ้านบางแก้ว
หลังจากตายายทั้งสองถึงแก่กรรมแล้ว
กุมารกับนางเลือดขาวได้รับมรดกเป็นนายกองช้าง
เลี้ยงช้างส่งให้เจ้าพระยากรุงทองต่อไป
ต่อมาทั้งสองได้ปรึกษาตกลงกันว่าควรนำทรัพย์สมบัติมาสร้างบุญกุศลขึ้นในพระพุทธศาสนาเพื่ออุทิศให้ตายายทั้งสองที่ล่วงลับไปแล้ว
ทั้งสองจึงได้นำบริวารทำการถากถางป่าบริเวณริมคลองบางแก้ว สร้างเป็นกุฏิ วิหาร
อุโบสถ พระธรรมศาลา
พระพุทธรูปเสร็จแล้วเจ้าพระยากรุงทองได้เดินทางมาร่วมกันสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นที่วัดเขียนบางแก้ว
ตั้งแต่นั้นมาเรียกสถานที่นั้นว่า “ที่วัด”
มีอาณาเขตถึงบ้านดอนจิงจาย อำเภอเขาชัยสน
ต่อมาเจ้าพระยากรุงทอง
นางเลือดขาวกับกุมารได้สร้างถนนจากบ้านบางแก้วถึงบ้านสทังและได้สร้างวัดสทังใหญ่ขึ้น
๑ วัด มีพระมหาธาตุเจดีย์ อุโบสถ วิหาร และพระพุทธรูป
เมื่อเสร็จแล้วได้สร้างวัดสทิงพระขึ้นทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลามีพระพุทธไสยาสน์
พระมหาธาตุเจดีย์ ได้ทำการฉลองพร้อมกันทั้ง ๓ อาราม
ได้จารึกลงในแผ่นทองคำให้ชื่อว่า “เพลานางเลือดขาว”
หรือ “เพลาวัดบางแก้ว” หรือ
“เพลาเมืองสทิงพระ” ตรงกับวันพฤหัสบดี
เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒
จำเดิมแต่นั้นมาที่บ้านบางแก้วก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ที่มีพ่อค้าวาณิชเดินทางมาค้าขาย
กุมารกับนางเลือดขาวจึงสร้างเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง
ทางทิศเหนือของวัดเขียนบางแก้ว ทั้งสองได้ปกครองเมืองพัทลุง คนทั่วไปจึงเรียกว่า “เจ้าพระยากุมาร”
ต่อมาประมาณปีพ.ศ. ๑๔๙๓
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวทราบข่าวมาว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะส่งทูตไปสืบค้นหาพระบรมสารีริกธาตุที่เกาะลังกา
ทูตจากเมืองนครศรีธรรมราชขี่ช้างไปทางห้วยยอดเมืองตรังแล้วลงเรือที่แม่น้ำตรังไปยังท่าเรือกันตัง
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวจึง
ขี่ช้างจากบางแก้วไปจนถึงสถานที่แห่งหนึ่งได้พบหมีร้องอยู่จึงเรียกที่นั้นว่า “บ้านทะหมีร่ำ” (ทะคือ พบ,ร่ำ
คือ ร้อง) คือ บ้านท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุงในปัจจุบัน
เมื่อถึงเมืองตรังเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อว่า “วัดพระงาม” แล้วไปลงเรือทูตเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าเรือกันตัง
แล่นเรือไปเกาะลังกา
ตอนขากลับจากเกาะลังกา
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวและทูตเมืองนครศรีธรรมราช
ได้นำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพุทธสิหิงค์มาด้วย ขึ้นฝั่งที่ปากน้ำเมืองตรัง
เดินทางไปพักแรมค้างคืน ณ
สถานที่แห่งหนึ่งเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งให้ชื่อว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์พระพุทธสิหิงค์” และยังได้จำลองรูปพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัด
๑ องค์
ก่อนออกเดินทางกลับเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวยังได้ไปสร้างพระนอนไว้ที่วัดถ้ำพระพุทธ
ตำบลหนองบัว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ๑ องค์ แล้วจึงออกเดินทางกลับบางแก้ว
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว
และยังได้สร้างวัดขึ้นที่ชายหาดปากบางบางแก้ว ก่อพระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ อุโบสถ
วิหาร ให้ชื่อว่าวัดพระนอนหรือวัดพระพุทธไสยาสน์
ทำการฉลองพร้อมกับวัดพระพุทธสิหิงค์หรือวัดหิงค์ที่เมืองตรัง เมื่อวันอาทิตย์
เดือน ๖ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๔๙๖
ครั้งหนึ่งเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวเดินทางเที่ยวไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช
ได้พักอยู่ที่บ้านหนองหงส์ อำเภอทุ่งสงเป็นเวลา ๑ คืน
แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้าไปบูชาพระอัฐิธาตุของเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชองค์ก่อน
ได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้หลายตำบล เช่น ขุดสระน้ำที่วัดเขาขุนพนม ๑ แห่ง เป็นต้น
ครั้งนั้นข่าวความงามของนางเลือดขาวร่ำลือเข้าไปถึงกรุงสุโขทัย
พระเจ้ากรุงสุโขทัยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์
คุมขบวนเรือนางสนมออกไปรับนางเลือดขาวถึงเมืองนครศรีธรรมราช
เพื่อจะทรงนำไปชุบเลี้ยงเป็นพระมเหสี
ส่วนเจ้าพระยากุมารก็เดินทางกลับมาอยู่บ้านพระเกิด
ครั้งนั้นนางเลือดขาวเข้าไปถึงกรุงสุโขทัย
ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่พระองค์มิได้ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้เป็นพระมเหสีหรือนางสนม ด้วยนางนั้นมีสามีและมีครรภ์ติดมาแต่สามีเดิมเพียงแต่โปรดเกล้าฯ
ให้อาศัยอยู่ในกรุงสุโขทัย จนนางคลอดบุตรเป็นชาย
พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงขอบุตรนั้นเลี้ยงไว้ ฝ่ายนางเลือดขาวทูลลากลับเมืองพัทลุง
ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ
ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์นำนางเลือดขาวไปส่งถึงเมืองพัทลุง
โดยขบวนเรือแล่นเข้าทางแม่น้ำปากพนัง นางเลือดขาวได้
พักอาศัยอยู่บริเวณบ้านค็องหลายวัน ได้สร้างวัดขึ้นใกล้กับคลองค็อง เรียกชื่อว่า“วัดแม่อยู่หัวเลือดขาว”(ตำบลแม่อยู่หัว
อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองพัทลุง
หลังจากนางเลือดขาวกลับจากกรุงสุโขทัยแล้วคนทั่วไปมักจะเรียกนางว่า “เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว” หรือบางครั้งจะเรียกว่า “นางพระยาเลือดขาว” หรือ “พระนางเลือดขาว”
ด้วยเข้าใจผิดว่านางเป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
ครั้นเวลาล่วงมาหลายปี
นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองสทิงพาราณสีโดยทางเรือ
ขึ้นฝั่งที่บ้านท่าทอง (ท่าคุระ)
ได้สร้างวัดท่าคุระหรือวัดเจ้าแม่อยู่หัวหรือวัดท่าทองขึ้นวัดหนึ่ง
และยังได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่วัด ๑ องค์ด้วย เรียกว่า “รูปเจ้าแม่อยู่หัว” แล้วจึงเดินทางต่อไปสร้างวัดนามีชัย
(วัดสนามชัย) วัดเจ้าแม่ (วัดชะเมา) วัดเจดีย์งาม วัดเถรการาม
วัดเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับเมืองพัทลุง
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้ปกครองเมืองพัทลุงเรื่อยมาจนแก่ชรา
ประชาชนจึงร่วมกันจัดงานทำบุญรดน้ำแก่นางเลือดขาว
โดยจัดขบวนแห่จากเมืองพัทลุงผ่านแหลมจองถนนไปตามเส้นทางเลียบฝั่งทะเลสาบจนถึงบ้านพระเกิด
ถนนสายนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ทางพระ”หรือ“ถนนพระ” หรือ “ถนนนางเลือดขาว” เส้นทางสายนี้สิ้นสุดที่บ้านหัวถนน
ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน ประชาชนได้ร่วมกันรดน้ำแก่นางเลือดขาว สถานที่นั้นจึงเรียกว่า
“ทุ่งเบญจา”
เมื่อเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวแก่ชราภาพมากแล้วทางฝ่ายกรุงสุโขทัยได้ส่งบุตรของนางออกมาเป็นคหบดีปกครองอยู่ที่บ้านพระเกิด
ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “เจ้าฟ้าคอลาย” ด้วยเข้าใจว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน และตามร่างกายได้สักลวดลายเลขยันต์ตามคตินิยมของชาวเมืองเหนือจึงเรียกว่า
“เจ้าฟ้าคอลาย”
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวมีอายุได้ประมาณ
๗๐ ปีเศษก็ถึงแก่กรรม ฝ่ายเจ้าฟ้าคอลายผู้เป็นบุตรได้จัดการทำพิธีศพบิดามารดา
โดยจัดขบวนแห่ศพจากเมืองพัทลุงไปตามถนนนางเลือดขาว นำศพมาพัก ณ สถานที่แห่งหนึ่ง
ต่อมาเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า “ที่ศพนางเลือดขาว”
(อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี
อำเภอปากพะยูน)ในขณะที่พักศพอยู่นั้นก็ได้นำไม้คานหามปักลงในบริเวณใกล้ๆ
ต่อมาคานหามงอกงามขึ้นเป็นกอไม้ไผ่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ประชาชนที่พากันมาในขบวนแห่ได้นำฆ้องใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่กิ่งมะม่วง
เพื่อตีบอกเวลาให้ประชาชนมารวมกันแล้วแห่ศพต่อไป สถานที่นั้นต่อมาเรียกว่า “มะม่วงแขวนฆ้อง” (ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของบ้านบางม่วง
ตำบลฝาละมี) จนถึงบ้านพระเกิดได้ทำการฌาปนกิจศพภายในวัดพระเกิด
ฝ่ายเจ้าฟ้าคอลายเมื่อจัดการฌาปนกิจศพบิดามารดาเสร็จแล้ว
นำอัฐิไปไว้ที่บ้านบางแก้ว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าคอลายเป็นเจ้าเมืองพัทลุง
ตั้งเมืองที่โคกเมืองบางแก้ว ต่อมาเจ้าฟ้าคอลายได้สร้างพระพุทธรูป ๒
องค์ไว้ที่ริมทะเลสาบทางทิศตะวันตกของเมืองให้ชื่อว่า “พระพุทธรูปสองพี่น้อง” เพื่ออุทิศเป็นกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่บิดามารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว
และยังได้นำพวกแขกชีหรือพวกคุลาให้มาสร้างพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ขึ้น ๑ องค์
เรียกว่า “พระคุลา” หรือ “พระแก้วคุลา” เจ้าฟ้าคอลายได้ปกครองเมืองพัทลุงมาจนถึงแก่อนิจกรรม
การสร้างเมืองพัทลุง
ตำนานนางเลือดขาวได้ชี้ให้เห็นถึงการก่อตั้งและพัฒนาการของเมืองสทิงพระและเมืองพัทลุง
เมืองทั้งสองนี้มีประวัติความเป็นมาที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
โดยมีเมืองสทิงพระหรือเมืองสทิงพาราณสีเป็นเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นก่อนทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา
เป็นเมืองที่แสดงให้เห็นว่าได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียและจีนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๕ และเจริญรุ่งเรืองพัฒนาขึ้นเป็นเมือง
สทิงพระอย่างแท้จริงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๙
มีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขายกับนานาชาติ
และเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองที่มีอำนาจเหนือชุมชนต่างๆ รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
โดยมีเจ้าเมืองที่สำคัญได้แก่ เจ้าพระยากรุงสทิงพาราณสีหรือเจ้าพระยากรุงทอง
ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาบริเวณบ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน
เป็นที่ส่วยช้างของเมืองสทิงพระ มีตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมียเป็นหมอสดำ
หมอเฒ่านายกองช้าง จับช้างส่งให้เจ้าพระยากรุงทองทุกปี
ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙
เมืองสทิงพระเสื่อมอำนาจลง เนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก
ตั้งอยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทยมากเกินไปกับโจรสลัดมาเลย์จากชวา สุมาตรา
ยกกำลังเข้าปล้นสะดมทำลายเมืองหลายครั้ง จึงทำให้เมืองสทิงพระเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรม
ตำแหน่งนายกองช้างจึงตกแก่บุตรบุญธรรม คือกุมารกับนางเลือดขาว
ทั้งสองคนได้อพยพสมัครพรรคพวกจากชุมชนบ้านพระเกิดไปตั้งเมืองที่บ้านบางแก้ว
พร้อมกับการสร้างพระวิหารและพระพุทธรูปขึ้นที่วัดเขียน วัดสทัง และวัดสทิงพระ
ขณะเดียวกันเจ้าพระยากรุงทองได้สร้างพระมหาธาตุขึ้นที่วัดทั้งสาม เสร็จแล้วได้ตั้งเมืองพัทลุงขึ้นที่บางแก้ว
ใกล้กับวัดเขียนบางแก้วตรงบริเวณที่เรียกว่า "โคกเมือง"
โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะเมืองหนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตร
เป็นเมืองปีมะเส็ง เมื่ออำนาจของกรุงศรีอยุธยาแผ่มาถึงภาคใต้
ได้รวมเอาเมืองนครศรีธรรมราชและยกเป็นหัวเมืองเอกของกรุงศรีอยุธยา
ปกครองดูแลหัวเมืองภาคใต้ทั้งหมดจึงได้ยกเมืองพัทลุงขึ้นเป็นเมืองตรีและขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา
แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจากเมืองสทิงพระไปอยู่ที่เมืองพัทลุง
จึงทำให้เมืองสทิงพระลดความสำคัญลงเป็นเมืองบริวารของเมืองพัทลุงตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา
แต่อย่างไรก็ตามเมืองสทิงพระก็มีเจ้าเมืองปกครองต่อๆ มาอีกหลายคน เช่น
พระยาธรรมรังคัล และพระยาอู่ทอง เป็นต้น
ต่อมาเมื่อเมืองพัทลุงที่บางแก้วย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ที่อื่น
อันเนื่องมาจากการรุกรานหรือปล้นสะดมทำลายเมืองของโจรสลัดมาเลย์พวก
"อาแจะอารู"
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒
ทำให้บริเวณเมืองพัทลุงที่บางแก้วลดความสำคัญลงไป จัดเป็นบริเวณหนึ่งที่เรียกว่า
"ที่วัด" อยู่ภายใต้การดูแลของพระนนปลัดเมืองพัทลุง แต่ยังคงเป็นศูนย์กลางการปกครองทางพระพุทธศาสนาบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา
ขณะเดียวกันในบริเวณชุมชนบ้านพระเกิดก็ได้จัดเป็น "ที่คช"
หรือที่ส่วยช้างมีอาณาเขตกว้างขวางทิศเหนือจดบ้านท่ามะเดื่อ และทิศใต้จดแม่น้ำจะนะ
มีขุนคชราชาหรือหลวงคชราชาเป็นผู้ปกครองดูแล และเป็นนายกองช้างที่ต้องจับช้างส่งส่วยให้กรุงศรีอยุธยา
๕ ปี ต่อ ๑ เชือก
วัฒนธรรมด้านการเมืองการปกครอง
วัฒนธรรมด้านการเมืองการปกครองชี้ให้เห็นว่าในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
เมืองสทิงพระหรือเมืองสทิงพาราณสีเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง
โดยอิงอยู่กับอำนาจรัฐหรืออาณาจักรศรีวิชัยและตามพรลิงค์
แต่เป็นเมืองที่มีอิสระในการปกครองชุมชนต่างๆ รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
มีเจ้าพระยากรุงทองเป็นเจ้าเมืองสทิงพาราณสี
ต่อมาเมื่อเกิดเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมืองบางแก้วมีเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวผู้สืบตระกูลจากตาสามโมกับยายเพชรเป็นผู้นำชุมชน
ความเจริญและศูนย์อำนาจในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจึงได้เปลี่ยนจากเมืองสทิงพระไปอยู่ที่เมืองพัทลุง
ขณะเดียวกันเมืองพัทลุงก็ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา
โดยการควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช
พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) จึงโปรดเกล้าฯ
ให้รับตัวนางเลือดขาวเข้าไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อทรงชุบเลี้ยงเป็นนางสนม
แต่เมื่อทรงทราบว่านางมีครรภ์กับสามีเดิมแล้วก็ไม่ทรงยกเป็น นางสนม
เมื่อนางคลอดบุตรเป็นชาย พระมหากษัตริย์ทรงขอไว้และเมื่อเติบโตขึ้นก็ได้รับราชการในเมืองหลวงในทำนองตัวประกัน
เมื่อนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารถึงแก่กรรม ทางกรุงศรีอยุธยาก็โปรดเกล้าฯ
ให้บุตรของนางเป็นเจ้าเมืองพระเกิดและหลังจากนั้นได้มีการแต่งตั้งคนจากราชธานีออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง
ซึ่งเป็นนโยบายของกรุงศรีอยุธยาที่พยายามแต่งตั้งคนจากราชธานีมาเป็นเจ้าเมือง
เพื่อควบคุมหัวเมืองต่างๆ
โดยเฉพาะเมืองพัทลุงเป็นเมืองชายแดนหรือชายขอบทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา
ในขณะเดียวกันเมืองพัทลุงก็มีอำนาจในการปกครองควบคุมดูแลหัวเมืองเล็กๆ
ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งปรากฏว่ามีถึง ๘ หัวเมือง จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมืองพัทลุงมีเมืองบริวาร
๗ หัวเมือง
วัฒนธรรมด้านพระพุทธศาสนา
วัฒนธรรมด้านพระพุทธศาสนาในภาคใต้สมัยกรุงศรีอยุธยา
คณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้ขึ้นกับพระวันรัตนเจ้าคณะคามวาสีฝ่ายขวาหรือคณะป่าแก้วอยู่วัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย
(วัดใหญ่ไชยมงคล) ในกรุงศรีอยุธยา
การปกครองคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง เมืองไชยา
มีลักษณะพิเศษกว่าหัวเมืองอื่นในภาคใต้ คือ แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ ได้แก่
คณะป่าแก้วหรือคณะลังกาป่าแก้ว คณะลังการาม คณะลังกาชาติ และคณะลังกาเดิม
มีตำแหน่งพระครู ๔ รูป ได้แก่ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชาติ
และพระครูกาเดิม คำว่า "กา" มาจากคำว่าลังกา
หัวเมืองพัทลุงได้นำแบบอย่างการปกครองคณะสงฆ์มาใช้ตามแบบเมืองนครศรีธรรมราช
แต่ตำนานนางเลือดขาวและเอกสารกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงหลายฉบับพบว่า
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหัวเมืองพัทลุงหรือลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
มีศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์เพียง ๒ คณะเท่านั้นคือ
คณะป่าแก้วตั้งศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้ว
และวัดสทังทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา และคณะลังกาชาติหรือคณะกาชาติ
ตั้งศูนย์กลางที่วัดพะโคะหรือวัดราษฎร์ประดิษฐ์ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา
ส่วนสมณศักดิ์ของพระครูกาทั้ง ๔ รูป
ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีใช้มาแล้วในหัวเมืองพัทลุง
แต่น่าจะเป็นสมณศักดิ์ที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
หลังจากนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้ถึงแก่กรรมแล้ว วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง
และวัดสทิงพระ คณะสามป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงตกอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก
ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากการทำลายของพวกสลัดมาเลย์ที่เรียกว่า"อาแจะอารู"
ต่อมาเจ้าอินทร์บุตรปะขาวสนกับนางเป้าชาวบ้านสทัง
ได้บูรณะซ่อมแซมวัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระ
แล้วเดินทางไปอุปสมบทที่เมืองนครศรีธรรมราช และได้เดินทางโดยสารเรือสำเภาเข้าไปกรุงศรีอยุธยา
พระสามีอินทร์เอากระบวนวัดที่ได้บูรณะขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์
ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑)
พระสามีอินทร์มีความดีความชอบ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระครูอินทรเมาลีฯ
เจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง และได้ถวายข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนาที่ภูมิทาน
และเรือสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองออกมาช่วยพระครูอินทเมาลีฯ
บูรณะวัดวาอารามในเมืองพัทลุงและได้ยกวัดในแขวงเมืองนครศรีธรรมราช เมืองตรัง
และเมืองพัทลุงขึ้นกับคณะป่าแก้ว จำนวน ๒๙๘ วัด วัดเขียนบางแก้ว และวัดสทัง คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง
จึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญทางด้านการปกครองคณะสงฆ์ในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
มีการจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ มีพระครูอินทเมาลีฯ เป็นเจ้าคณะ พระครูอันดับ ๖
รูป ได้แก่ พระครูปลัด พระครูรอง พระครูสมุห์ พระครูวินัยธร พระครูอนุโลม
และพระครูบาสิกา ส่วนหมู่ข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนา
มีสิทธิพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปไม่ต้องเสียส่วยสาอากร ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานจากภาครัฐ
มีคดีความแพ่งอาญาทางวัดจะเป็นผู้ตัดสินกันเอง
ถ้าพระจะต้องทำเรือกสวนไร่นาบนที่ดินกัลปนาหรือทำงานวัด
เพื่อบำรุงรักษาวัดวาอารามไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม โดยจัดรูปแบบการปกครองเป็นกรมวัด
มีพระครูเจ้าคณะเป็นหัวหน้า มีขุนหมื่น สมุห์บัญชี
นายประเพณีปกครองดูแลข้าพระโยมสงฆ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
และการพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา ข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนา
วัตถุสิ่งของที่ภูมิทานให้แก่วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง
คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงเป็นจำนวนมากมายทำให้สถาบันสงฆ์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจรรโลงพระพุทธศาสนาในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มชนจากเล็กเป็นชุมชนใหญ่
มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันสงฆ์กับบ้านเมืองในท้องถิ่น และทำให้สถาบันสงฆ์เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของชุมชน
วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับช้าง
ตำนานนางเลือดขาวได้ให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับช้าง
ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับมนุษย์อย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้านฝั่งตะวันตกที่บ้านพระเกิดเมืองพัทลุง เป็นแหล่งจับช้างหรือที่ส่วยช้าง
โดยมีตาสามโมกับยายเพชรเป็นหมอสดำหมอเฒ่านายกองช้าง
และนายสีเทพกับนายแก่นมั่นคงเป็นหมอช้าง ได้เลี้ยงช้างที่สำคัญไว้ ๒ เชือก คือ
ช้างพลายคชวิไชยมณฑล และช้าง พังตลับ
มีหน้าที่จับช้างส่งส่วยให้เจ้าพระยากรุงสทิงพระทุกปี ต่อมาเมื่อตายายถึงแก่กรรมมรดกก็ตกแก่นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมาร
ในสมัยนั้นมีการส่งส่วยช้างให้แก่กรุงศรีอยุธยาปีละ ๑ เชือก
และเรียกบริเวณนี้ว่าที่คชอยู่ในความควบคุมของขุนคชราชา
และในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหัวเมืองพัทลุงได้เปลี่ยนแปลงการส่งส่วยช้างเป็น ๕
ปี ต่อ ๑ เชือก และตำนานนางเลือดขาวยังได้ระบุว่าเมืองพัทลุงได้เกิดช้างเผือกขึ้น
แต่ไม่ทราบรายละเอียดอย่างอื่นที่พอจะสืบค้นได้
และด้วยเหตุที่เป็นเมืองจับช้างส่งส่วยมาแต่โบราณ
จึงมีผู้สันนิษฐานว่าชื่อเดิมของเมืองพัทลุงน่าจะมาจากคำว่า "ตะลุง"
ซึ่งเป็นชื่อหลักไม้หรือเสาไม้ล่ามช้าง
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ
ตำนานนางเลือดขาวชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมด้านความเชื่ออย่างหลากหลายของกลุ่มชนในภาคใต้
โดยเฉพาะกลุ่มชนแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ความเชื่อที่มีลักษณะเด่นๆ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างวัด
ความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ และการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์
ความเชื่อเกี่ยวกับการเก็บอัฐิ ความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์
ความเชื่อเกี่ยวกับอุปปาติกะ ความเชื่อเกี่ยวกับขุมทรัพย์แผ่นดิน
และความเชื่อทางไสยศาสตร์
ความเชื่อเหล่านี้มีการสืบทอดและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวใต้ทั้งอดีตและปัจจุบัน
บทสรุป
ตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานมุขปาฐะที่แพร่กระจายอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้
และตอนเหนือของมาเลย์เชีย ตำนานนางเลือดขาว (พัทลุง)
สะท้อนให้เห็นสังคมวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันเป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์
โบราณคดี พระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
และแนวคิดที่เกี่ยวกับสตรีที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาการเป็นผู้นำที่ดี
เมื่อพระเจ้าพินธุสารสวรรคต
พระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์สมบัติได้ทรงขยายอาณาจักรมคธให้กว้างใหญ่ไพศาลด้วยการทำสงครามปราบแคว้นกลิงคราษฎร์
จึงทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ผลของสงครามทำให้คนพากันอพยพลงเรือมาขึ้นฝังอันดามันที่ท่าประตูเล
(ตรัง) แล้วเดินข้ามเขาบรรทัดผ่านเมืองตระจึงแยกออกเป็น ๒ สาย คือ
สายแรกเดินทางมาอาศัยที่บ้านท่าทิดครู และสายที่สองเข้าอาศัยที่ตะโหมด (พัทลุง)
ครั้งนั้นตาสามโมกับยายเพชรอาศัยอยู่ที่บ้านพระเกิดเป็นหมอช้างขวา
มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกหัดแล้วส่งให้เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี
วันหนึ่งตายายได้เดินทางไปจับช้างป่าถึงที่ถ้ำ ไผ่ตง
ชาวอินเดียยกบุตรีให้เป็นบุตรบุญธรรมของตายายและให้ชื่อว่า นางเลือดขาว
ต่อมาตายายเดินทางไปขอบุตรชาวอินเดียที่ถ้ำไผ่เสรียงไว้เป็นบุตรบุญธรรมและเป็นคู่ครองกับนางเลือดขาวชื่อว่ากุมาร
วันหนึ่งตาสามโมได้ออกเดินตามหาช้างถึงคลองบางแก้วพบช้างนอนทับขุมทรัพย์
จึงปรึกษายายเพชร
และจัดพิธีแต่งงานให้นางเลือดขาวกับกุมารแล้วย้ายจากบ้านพระเกิดมาอยู่ที่บางแก้ว
ซึ่งตั้งบ้านเรือนใกล้กับขุมทรัพย์ เมื่อตายายถึงแก่กรรมนางเลือดขาวกับกุมารรับมรดกเป็นนายกองช้าง
เลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทอง และนำทรัพย์สมบัติมาสร้างบุญในพระพุทธศาสนา เช่น
สร้างกุฏิ วิหาร ธรรมศาลา พระพุทธรูป อุโบสถที่วัดเขียนบางแก้ว และวัดอื่นๆ
ตั้งแต่นั้นมาบ้านบางแก้วก็กลายเป็นชุมชนใหญ่มีพ่อค้าวานิชเดินทางมาค้าขาย
และนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้สร้างเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง
นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้เดินทางไปสืบค้นหาพระบรมสารีริกธาตุที่เกาะลังกากับเรือทูตของเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
และได้นำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพุทธสิหิงค์มาขึ้นฝั่งที่เมืองตรัง
นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในเจดีย์วัดเขียนบางแก้วแล้วเดินทางไปบูชาอัฐิของเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชองค์ก่อน
พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงทราบข่าวของนางเลือดขาวจึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์ไปรับนางเลือดขาวมากรุงสุโขทัย
เพื่อจะชุบเลี้ยงให้เป็นนางสนม แต่ด้วยนางมีครรภ์ติดมาจึงโปรดเกล้าฯ
ให้อาศัยจนคลอดบุตร
พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงขอบุตรเลี้ยงไว้และให้พระยาพิษณุโลกพร้อมด้วยคณะไปส่งนางเลือดขาวที่เมืองพัทลุง
เมื่อเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวแก่ชราลง
กรุงสุโขทัยได้ส่งบุตรของนางออกมาปกครองเมืองพระเกิด
ต่อมาเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวถึงแก่กรรม
เจ้าฟ้าคอลายจัดทำพิธีศพและนำอัฐิไปไว้ที่บ้านบางแก้ว
เจ้าฟ้าคอลายได้สร้างพระพุทธรูปสองพี่น้องเพื่ออุทิศเป็นกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่บิดามารดาที่ล่วงไป
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าคอลายเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่โคกเมืองบางแก้ว
ตำนานนางเลือดขาวได้สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของเมืองสทิงพระ
และเมืองพัทลุงที่เป็นศูนย์อำนาจทางการเมือง การปกครอง
และพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ตลอดจนถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้ในสมัยอยุธยาที่ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เจ้าพระยากรุงทองเป็นเจ้าเมืองเมืองสทิงพระ
เมืองนี้ศูนย์กลางการปกครองและเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกซึ่งได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียและจีน
ส่วนทางฝั่งตะวันตกบริเวณบ้านพระเกิดเป็นที่ส่งส่วยช้างของเมืองสทิงพระ โดยมีตาสามโมกับยายเพชร
เป็นหมอสดำจับช้างส่งให้เจ้าพระยากรุงทองเมืองสทิงพาราณสีทุกปี
ต่อมาเมืองสทิงพระเสื่อมอำนาจลงและตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรม
เจ้ากุมารกับนางเลือดขาวได้อพยพสมัครพรรคพวกไปตั้งเมืองใหม่ที่โคกเมือง บางแก้ว
สร้างวิหารและพระพุทธรูปที่วัดเขียน วัดสทัง และวัดสทิงพระ
เจ้าพระยากรุงสทิงพาราณสีได้สร้างพระมหาธาตุขึ้นที่วัดทั้งสามแล้วตั้งเมืองพัทลุงขึ้นที่บางแก้ว
ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองนครศรีธรรมราชและกรุงศรีอยุธยา
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจจากเมืองสทิงพระมาอยู่ที่เมืองพัทลุง
และย้ายจากศูนย์กลางเมืองพัทลุงไปอยู่ที่อื่น
บริเวณเมืองพัทลุงก็กลายมาเป็นที่วัดและเป็นศูนย์กลางการปกครองทางพระพุทธศาสนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ส่วนบริเวณชุมชนบ้านพระเกิดก็เป็นที่ส่งส่วยช้างให้กรุงศรีอยุธยา
สมัยเริ่มประวัติศาสตร์เจ้าพระยากรุงทองเป็นเจ้าเมืองสทิงพระ
เมืองสทิงพระมีความเจริญรุ่งเรืองซึ่งอิงอยู่กับอำนาจของศรีวิชัยและตามพรลิงค์
เมื่อเจ้าพระยากุมารนางเลือดขาวสร้างเมืองพัทลุงที่บางแก้วศูนย์อำนาจก็ย้ายมาอยู่ที่พัทลุง
ขณะเดียวกันเมืองพัทลุงก็ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา
กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าฯ ให้รับตัวนางเลือดขาวมาเป็นนางสนม
เมื่อทรงทราบว่านางมีครรภ์ก็ไม่ยกเป็นนางสนม แต่รับบุตรชายไว้ทรงอุปถัมภ์
เมื่อนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารถึงแก่กรรมก็ส่งบุตรของนางมาเป็นเจ้าเมืองพระเกิด
เพื่อควบคุมหัวเมืองต่างๆ
สมัยอยุธยาคณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้ขึ้นกับพระวันรัตนเจ้าคณะคามวาสีฝ่ายขวาหรือคณะป่าแก้วอยู่วัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่ไชยมงคลกรุงศรีอยุธยา
การปกครองคณะสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และไชยา
มีลักษณะพิเศษกว่าหัวเมืองอื่นๆ ในภาคใต้คือแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ ได้แก่
คณะลังกาป่าแก้ว คณะลังการาม คณะลังกาชาติ และคณะลังกาเดิม มีตำแหน่งพระครู ๔ รูป
ได้แก่ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชาติ และพระครูกาเดิม
แต่การปกครองสงฆ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ปรากฏในตำนานนางเลือดขาวมี ๒ คณะ คือ
คณะป่าแก้วมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง
และคณะลังกาชาติศูนย์กลางตั้งอยู่ที่วัดพะโคะ ส่วนสมณศักดิ์ของพระครูกาทั้ง ๔
ไม่ปรากฏหลักฐานที่ใช้ในเมืองพัทลุง
แต่น่าจะเป็นสมณศักดิ์ที่ใช้ในกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารถึงแก่กรรม
วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระ คณะสามป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงชำรุดทรุดโทรม
เจ้าอินทร์บุตรปะขาวสนกับนางเป้าชาวบ้านสทังได้บูรณะซ่อมแซมวัดเขียนบางแก้ว
วัดสทัง และวัดสทิงพระแล้วไปอุปสมบทที่เมืองนครศรีธรรมราช
พระสามีอินทร์เดินทางไปกราบทูลกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเกี่ยวกับการบูรณะวัดดังกล่าว
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระครูอินทเมาลี เป็นเจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง
และถวายคนรับใช้พระสงฆ์กับที่กัลปนา เรือสำเภา ๓ ลำ
บรรทุกอิฐปูนรักทองมาช่วยพระครูอินทเมาลีบูรณะวัด และยกวัดในเมืองนครศรีธรรมราช
ตรัง และพัทลุงขึ้นกับคณะป่าแก้ว วัดเขียนบางแก้ว และวัดสทัง
ให้เป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ซึ่งมีพระครูอินทเมาลีเป็นเจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง
ส่วนข้ารับใช้พระสงฆ์มีสิทธิพิเศษ เช่น ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร
มีคดีความวัดเป็นผู้ตัดสินเอง เป็นต้น
วัตถุสิ่งของที่เกิดขึ้นจากที่กัลปนาให้แก่วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง
และคณะสงฆ์ป่าแก้วจำนวนมากมาย จึงทำให้สถาบันสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการบำรุงพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
พระสงฆ์จึงเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของชุมชน
ช้างเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับมนุษย์อย่างใกล้ชิด
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันตกบริเวณบ้านพระเกิดหรือที่คชอันเป็นที่จับช้างให้แก่เจ้าพระยากรุงทองของตาสามโมกับยายเพชร
เมื่อตายายถึงแก่กรรมมรดกก็ตกแก่นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารที่จะต้องส่งส่วยช้างให้กรุงศรีอยุธยา
กลุ่มชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างวัด บรมสารีริกธาตุ
พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธสิหิงค์ และไสยศาสตร์
จึงเป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวภาคใต้มาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
ชัยวุฒิ พิยะกูล. เพลานางเลือดขาว.
สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, ๒๕๔๕.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น