วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ปริศนาธรรมเกี่ยวกับศพ : อุบายการเข้าถึงความจริงของชีวิต



    บทความวิชาการที่ 14  โดย พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ กลิ่นละมัย) 
                                                                                



           ปริศนาธรรมเกี่ยวกับศพ : อุบายการเข้าถึงความจริงของชีวิต

            ประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพของชาวพุทธในสังคมไทยเพื่อระลึกถึงความดีของผู้ตายและการตอบแทนคุณของลูกหลาน พิธีกรรมจึงมีหลายขั้นตอนและแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมที่สอนให้มนุษย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายที่จะต้องแก่ เจ็บ และตายไปในที่สุด ส่วนจิตวิญญาณก็สอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ด้วยความรัก ความเคารพ และความสามัคคีปรองดองกันในสายสกุล เมื่อท่านเหล่านั้นตายไปแล้วจะต้องจัดงานบำเพ็ญกุศลศพอย่างมีคุณค่า สร้างสรรค์ และเพิ่มพูนปัญญาธรรม

ประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพ
            การจัดการเกี่ยวกับศพตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบันมีหลายวิธีการ คนอินเดียมีวิธีการจัดการเกี่ยวกับศพ ๔ วิธี คือ การนำศพไปทิ้งในป่าหรือป่าช้าผีดิบเพื่อเป็นอาหารของสัตว์จำพวกนกแร้ง กา สุนัขหรือสัตว์ป่า การนำศพไปฝังดิน การนำศพไปเผาไฟ และการนำศพไปลอยทิ้งในแม่น้ำคงคา ในสมัยนี้จะมีการจัดงานศพที่ยิ่งใหญ่เฉพาะพระศพของพุทธเจ้า พระพุทธบิดา พระสาวกบางรูป และบุคคลสำคัญ ส่วนบุคคลทั่วไปจะจัดการพิธีศพแบบเรียบง่ายไม่เน้นพิธีกรรม โดยการนำศพไปเผาหรือฝัง เป็นต้น ประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพของชาวพุทธในสังคมไทยให้ความสำคัญกับตายและการบำเพ็ญกุศลศพให้แก่ผู้ตายเป็นอย่างดี พิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนาจะมีเป็นลำดับขั้นตอน แต่ละขั้นตอนของพิธีกรรมจะแฝงไว้ด้วยแนวคิดและปริศนาธรรม เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้คิดพิจารณาถึงสภาวะธรรมที่แท้จริงของชีวิตหรือคติธรรมสอนใจผู้ที่มีชีวิตอยู่ให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดี สร้างบุญกุศลเอาไว้ เพื่อเป็นเสบียงบุญไปในชาติหน้า
            การบำเพ็ญกุศลศพของชาวพุทธมักนิยมตั้งศพไว้บำเพ็ญกุศลที่บ้านหรือวัดเป็นเวลา ๓-๗ วันแล้วเผาศพ การนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจึงมักนิยมเป็นจำนวนคู่ เช่น ๔ รูป ๘ รูป ๑๐ รูป หรือมากกว่านั้น เพราะเชื่อว่าพิธีศพเป็นงานอวมงคลที่แตกต่างจากงานมงคลทั่วไป การตั้งศพไว้บำเพ็ญกุศลเพื่อสอนธรรมแก่ผู้ที่มาร่วมในงานศพให้เข้าใจในร่างกายของมนุษย์ว่า เกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นสิ่งธรรมดา เพราะร่างกายของมนุษย์ตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ส่วนด้านจิตใจสอนให้ตระหนักถึงคุณธรรมความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่จะต้องทำหน้าที่ตอบแทนคุณบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ด้วยความรัก ความเคารพและความสามัคคีปรองดองของลูกหลานญาติพี่น้องในสายสกุลเดียวกัน เมื่อท่านเหล่านั้นตายไปแล้วลูกหลานควรจัดงานบำเพ็ญกุศลศพในเชิงสร้างสรรค์ สืบสานวัฒนธรรม และเพิ่มพูนปัญญาธรรม

ประโยชน์ของการบำเพ็ญกุศลศพ
            การบำเพ็ญกุศลศพของชาวพุทธมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ลูกหลานได้ตอบแทนและระลึกนึกถึงคุณความดีของบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย และจัดงานบำเพ็ญกุศลศพผู้ตายให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์และเพิ่มพูนปัญญาธรรมมี ๒ ประการ ดังนี้
            ๑. เพื่อให้เห็นความดีของผู้ตาย  การจัดงานบำเพ็ญกุศลศพให้แก่ผู้ตาย เพื่อให้ลูกหลานในวงศ์สกุลและญาติพี่น้องได้มาระลึกนึกถึงความดีที่ผู้ตายได้กระทำไว้แก่ตนเองและสังคม  จึงเป็นโอกาสดีที่ลูกหลานญาติพี่น้องได้มาขออโหสิกรรมและแสดงความรัก ความเคารพแก่ศพของผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ขณะเดียวกันเมื่อมีการเสียชีวิตของญาติพี่น้องคนหนึ่งคนใด ญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพตามสถานที่ต่างๆ ก็จะกลับมาร่วมประกอบพิธีศพ จึงทำให้พี่น้องมาพบปะกันเกิดความปรองด้วยความรัก ความอาลัย และความเห็นอกเห็นใจในการสูญเสียและเป็นเกียรติแก่เจ้าภาพ
            ๒. เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งชาวพุทธให้ความสำคัญกับความกตัญญูกตเวทีนี้มากเพราะเป็นวิธีการตอบแทนพระคุณของบิดามารดาผู้ที่เคยให้ความอุปการะมาก่อน  การตอบแทนพระคุณจึงเป็นสิ่งประเสริฐและเป็นเครื่องหมายของคนดี  การบำเพ็ญกุศลศพของบุพการีชนชี้ให้เห็นความจริงของชีวิตว่าทุกคนที่เกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ และตายไปในที่สุด ความตายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดมุมมองเห็นความไม่จิรังยั่งยืนของชีวิตและเห็นความสำคัญของความดี คนดีมีศีลธรรม จึงมีการตอบแทนพระคุณบิดามารดาด้วยความรัก ความเคารพ และความสามัคคีในหมู่ญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้ละเว้นความชั่ว มุ่งมั่นทำความดี

ปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในพิธีการบำเพ็ญกุศลศพ
            ปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพของชาวพุทธในสังคมไทยนั้นมีขั้นตอนพิธีกรรมหลายอย่าง ซึ่งได้สอดแทรกคติธรรมเอาไว้เพราะผู้คนในสมัยก่อนมีความชาญฉลาดเป็นนักปราชญ์ใช้
ภูมิปัญญานำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาผูกโยงไว้เป็นปริศนาธรรมและคติธรรม เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้นำไปคิดพิจารณาและปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ดังนี้
            ๑. การอาบน้ำศพและรดน้ำศพ เชื่อกันว่า เป็นการชำระร่างกายของผู้ตายให้สะอาด ล้างบาปกรรมอกุศลมลทินต่างๆ ให้หมดไป เพื่อเตรียมตัวไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การอาบน้ำศพจะต้องอาบด้วยน้ำร้อนก่อนแล้วจึงอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกด้วยสบู่ล้างให้สะอาด ทาแป้งให้ทั่วร่างกาย  อธิบายปริศนาธรรมว่า น้ำร้อนคือ กิเลส ได้แก่ ความโลภ (ราคะ) ความโกรธ และความหลงที่พาให้เร่าร้อน น้ำเย็นคือ
บุญกุศลเครื่องชำระใจให้บริสุทธิ์เยือกเย็นและอาบเพื่อแสดงความรักความเคารพต่อผู้ตาย
            ส่วนการรดน้ำศพ เชื่อกันว่า เพื่อขออโหสิกรรมโดยที่มีน้ำเป็นพยานและเป็นการแสดงไมตรีจิตแก่เจ้าภาพและผู้ตาย อธิบายปริศนาธรรมว่า คนตายแล้วถึงใครจะเอาน้ำอบหรือน้ำหอมมาอาบมารดสักเท่าไหร่
ก็ไม่กลับฟื้นได้ และเพื่อให้พิจารณาเห็นว่า คนเราเกิดมาก็มาตัวเปล่า เวลาตายไปก็ไปตัวเปล่า มิได้ยึดถือหอบหิ้วเอาสิ่งใดไปด้วย เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นได้คลายความโลภ โกรธ และหลง อันเป็นหนทางให้เกิดความสังเวช
สลดใจ ป้องกันความประมาทมั่วเมาในชีวิตได้
            ๒. การเอาเงินใส่ปากศพ  เชื่อกันว่า เพื่อให้ผู้ตายนำติดตัวเอาไปไว้ใช้ในเมืองผี สำหรับเป็นค่าเดินทาง ค่ารถ ค่าเรือ ค่าจ้างผู้นำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่โลกของวิญญาณ และเพื่อเป็นค่าจ้างให้กับสัปเหร่อในการเผาศพ อธิบายปริศนาธรรมว่า คนที่ตายไปแล้วแม้แต่เงินทองที่เขาใส่ปากให้แล้วก็นำไปไม่ได้ เพื่อให้เป็นเครื่องพิจารณาให้เห็นว่า ทรัพย์ที่ผู้ตายสะสมไว้จะน้อยหรือมากเพียงใดนำไปไม่ได้  สิ่งที่จะติดตามตัวไปได้ก็เพียงกรรมคือ บุญและบาปเท่านั้น แต่เมื่อมีชีวิตอยู่สามารถนำทรัพย์ไปสร้างบุญกุศลได้และ
จะเอื้ออำนวยต่อชีวิตในโลกหน้าได้
            ๓. การตราสังศพหรือการมัดศพ  เชื่อกันว่า เพื่อช่วยในการจัดการศพให้อยู่ในท่าที่ต้องการ ได้แก่ ตราสังรัดคอห่วงหนึ่ง ตราสังรัดผูกมือทั้งสองให้พนมไว้ที่หน้าอกห่วงหนึ่ง และตราสังรัดผูกข้อเท้าทั้งสองให้ติดกันห่วงหนึ่ง เพื่อให้ศพอยู่ในท่านอนหายและพนมมือ เมื่อศพเบ่งพองขึ้นจะได้ไม่ดันโลงทั้งสองข้างให้แตกหรือแยกออก อธิบายปริศนาธรรมว่า การมัดตราสังศพมี ๓ ห่วง ได้แก่ บุตร (ธิดา) เป็นห่วงคล้องคอ ทรัพย์เป็นห่วงคล้องมือ และภรรยา (สามี) เป็นห่วงคล้องเท้า เพื่อต้องการบอกว่า ห่วงทั้ง ๓ ห่วงนั้นเป็นเครื่องผูกมนุษย์ไว้ให้อยู่ในโลกียวิสัยหรือเครื่องผูกมัดสัตว์ให้จมอยู่ในสังสารวัฏฏ์และไม่ให้พ้นไปได้  ใครสามารถตัดห่วงหรือบ่วงนี้ได้จึงจะพ้นทุกข์ หรือถ้าเป็น ๕ บ่วง หมายถึง นิวรณ์ธรรม ๕ ที่เป็นเครื่องร้อยรัดสัตว์โลกให้วนเวียนอยู่ในกองทุกข์และกางกั้นไม่ให้พ้นไปจากทุกข์  ดังนั้นผู้ที่ต้องการให้บรรลุความดีพ้นจากทุกข์ก็พึ่งเว้นจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ นี้เสีย
            . การนำดอกไม้ธูปเทียนใส่มือศพ เชื่อกันว่า ผู้ตายจะได้นำเครื่องสักการะเหล่านี้ไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์  อธิบายปริศนาธรรมว่า เป็นการสอนคนที่มีชีวิตอยู่ว่า ผู้ตายนั้นไม่มีโอกาสที่จะ
ไหว้พระ รับศีล ฟังเทศน์ฟังธรรมหรือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว  ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่จงใส่ใจในการไหว้พระ ทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญจิตภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม และตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย เพื่อสั่งสมบุญเอาไว้ด้วยความไม่ประมาท เพราะคนตายหมดโอกาสที่จะทำได้แล้วหรือจะรอให้ญาติพี่น้องนำดอกไม้ธูปเทียนมาใส่มือให้แล้วจึงค่อยทำ
            ๕. การเคาะโลงรับศีล  เชื่อกันว่า การเคาะโลงศพเพื่อปลุกให้ผู้ตายลุกขึ้นมาไหว้พระ รับศีล และ
ฟังธรรม  อธิบายปริศนาธรรมว่า เป็นการเคาะโลงเพื่อล้อเลียนคนเป็น ขณะที่ถึงเวลาประกอบพิธีกรรม บางสถานที่มัวแต่เล่นการพนัน ดื่มสุรา ร้องรำทำเพลงหรือนั่งคุยกันเสียงดัง  การเคาะโลงศพเพื่อบอกว่าถึงเวลาไหว้พระ รับศีล ฟังสวด ฟังธรรมแล้ว อย่ามัวประมาทขาดสติ เพื่อให้มีจิตสำนึกว่า คนเราจะมีโอกาสทำความดี ทำบุญ ทำกุศล ปฏิบัติธรรมก็ต่อเมื่อมีชีวิตอยู่เท่านั้น เมื่อตายไปแล้วปลุกให้ลุกมาขึ้นมาไหว้พระรับศีล ฟังสวดฟังธรรมไม่ได้แล้ว เราจะเริ่มทำความดีกันเมื่อไหร่ วันนี้ วันไหน หรือจะรอจนกว่าไม่มีโอกาสทำความดี
            ๖. การจัดอาหารตั้งให้ผู้ตาย เชื่อกันว่า ผู้ตายมีความรู้สึกเหมือนคนเป็น เมื่อก่อนเคยได้กินอย่างไร เมื่อตายไปแล้วก็ต้องกินอย่างนั้นและเป็นการแสดงความเคารพและอาลัยรักผู้ตาย  โดยการจัดอาหารใส่ถาดหรือภาชนะอย่างดีในลักษณะสิ่งละอันพันละน้อย ข้าวนิดแกงหน่อย ล้วนเป็นอาหารที่ผู้ตายโปรดปราน นำไปวางไว้ข้างโลงศพแล้วเคาะโลงเบาๆ ๓ ครั้งแล้วบอกคนตายให้รับประทาน อาทิเช่น บอกว่า “พ่อกินข้าวหรือ แม่กินข้าวหรือปู่กินข้าว” เป็นต้น อธิบายปริศนาธรรมว่า คนที่ตายแล้วไม่สามารถลุกขึ้นมากินข้าวได้อีก ถ้าจะให้กินก็ควรให้กินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือกินได้  ถ้าตอนมีชีวิตอยู่ไม่เคยจัดอาหารให้กินให้ทานแล้วมาจัดให้ตอนตาย พวกผีมันจะหัวเราะเอา แต่ถ้าตอนมีชีวิตอยู่เคยจัดอาหารให้กินให้ทาน เมื่อท่านตายไปแล้วก็จัดอาหารเหล่านั้นมาบูชาคุณความดี เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที
            ๗. การจุดตะเกียงหรือเทียนไว้หน้าหีบศพ เชื่อกันว่า จุดไว้แทนธาตุของผู้ตายและเพื่อให้วิญญาณของผู้ตายไปสู่ที่สว่างหรืออาจจะเกิดจากกลัวความมืดและผีก็ได้  จึงได้จุดไฟเพื่อให้มีแสงสว่าง อธิบายปริศนาธรรมว่า เป็นการเตือนสติคนเป็นให้รู้ว่าเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องหาหนทางสว่างให้แก่ชีวิต ซึ่งจะต้องมีพระธรรมเป็นดวงประทีปช่วยส่องนำทาง  สร้างบุญสร้างกุศล เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต 
            ๘. การจุดธูปดอกเดียวหน้าหีบศพ เชื่อกันว่า การจุดธูปหน้าหีบศพเพื่อเคารพศพหรือผู้ตาย อธิบายปริศนาธรรมว่า คนเรามาคนเดียวตายไปคนเดียว จะชวนใครเขาก็ไม่ไปด้วยกับเรา เพื่อเตือนสติว่าชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้สั้นนัก ไฟที่เริ่มจุดธูปก็เหมือนชีวิตที่เริ่มมีความตายติดตามมา กลิ่นหอมของธูปก็เหมือนกลิ่นแห่งความดีงามที่ล่องลอยอยู่ในโลกและส่งกลิ่นหอมอยู่นานทวนกระแสลมอยู่เสมอ ชีวิตที่ไร้ความดีก็ไม่ต่างอะไรกับธูปที่ไร้กลิ่น  มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อรอความตาย โดยที่ไม่รู้จักเลยว่าความดีเขาทำกันอย่างไร  
            ๙.  การบวชหน้าไฟหรือหน้าศพ เชื่อกันว่า ผู้ตายจะได้เกาะชายผ้าเหลืองไปป่าช้าหรือเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสู่สวรรค์  อธิบายปริศนาธรรมว่า การบวชหน้าไฟหรือบวชหน้าศพ เพื่อเป็นการปลงธรรมสังเวช
ต่อการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ซึ่งทำให้เกิดการเบื่อหน่ายต่อชีวิตในโลกียวิสัย โดยไม่ประสงค์จะอยู่ในเพศฆราวาสแล้วยินดีพอใจในสมณเพศ  มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นสู่มรรคผลนิพพาน
            ๑๐. การสวดศพหรือสวดพระอภิธรรม  เชื่อกันว่า สวดให้คนตายฟังเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ตาย และสวดเพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าภาพผู้สูญเสียคนในครอบครัว อธิบายปริศนาธรรมว่า เป็นการสวดสอนคนเป็นเพื่อที่จะได้นำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์และความสุขในชีวิตประจำวัน แม้ว่าฟังพระสวดไม่เข้าใจ แต่การฟังย่อมมีผล ควรส่งจิตไปอยู่กับเสียงสวดให้จิตสงบนิ่งจนเกิดสมาธิจิตได้
            ๑๑. พระนำทางหรือพระนำศพ  เชื่อกันว่า การนำศพมาวางไว้บนเมรุที่มีพระนำทาง เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายและเจ้าภาพ ซึ่งผู้ตายจะได้ตามพระตามชายผ้าเหลืองไปสู่สวรรค์ อธิบายปริศนาธรรมว่า เพื่อต้องการสอนคนเป็นให้รู้จักคิดว่าเราอยู่ในโลกนี้อย่าทิ้งธรรม อย่าทิ้งศาสนา ต้องเดินตามพระอย่าเดินตามมาร เพราะพระหรือพระธรรมหรือธรรมะนั้นให้แสงสว่างนำทางชีวิต จะอยู่ดีมีสุขและเจริญก้าวหน้า ใครทิ้งพระธรรมไม่มีศาสนาประจำใจก็เหมือนคนตาบอดที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสฝ่ายต่ำได้ง่าย เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
            ๑๒. การนำศพเวียนเมรุหรือจิตกาธาน ๓ รอบ  เชื่อกันว่า การหามศพเวียนซ้ายรอบเมรุหรือจิตกาธาน 3 รอบนั้นเป็นการแสดงความเคารพต่อเมรุหรือจิตกาธานหรืออาจจะแสดงความเคารพต่อเจ้าป่าช้าก็ได้ อธิบายปริศนาธรรมว่า มนุษย์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ เพื่อเป็นการเตือนสติผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้คิดถึงตัวเองและเป็นหนทางได้บำเพ็ญบุญกุศล เพื่อหนีจากการเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง ๓ นี้ ด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอุปาทานและเป็นทุกข์ไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นจะต้องทวนกระแสกิเลส  อันเป็นการสอนธรรมชั้นสูง จึงได้หามศพเวียนซ้าย
            ๑๓. การใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ  เชื่อกันว่า น้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาดที่มีเครื่องห่อหุ้มหลายชั้น จึงใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพให้สะอาดบริสุทธิ์ อธิบายปริศนาธรรมว่า การเอาน้ำมะพร้าวมาล้างหน้าศพเป็นการสอนคนเป็นให้รู้ว่า การเอาสิ่งสะอาดมาล้างสิ่งสกปรกก็เหมือนกับการเอากุศลกรรมมาล้างอกุศลกรรม การที่บุคคลจะเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้นั้นจะต้องชำระจิตให้สะอาดด้วยน้ำคือ พระธรรม
            ๑๔. การวางดอกไม้จันทน์ เชื่อกันว่า ดอกไม้จันทน์เป็นดอกไม้มงคล ผู้ที่วางดอกไม้จันทน์เป็นการให้เกียรติแก่ผู้ตายและเจ้าภาพ อันเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยแก่ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย อธิบายปริศนาธรรมว่า เพื่อเตือนสติคนที่มีชีวิตอยู่ว่าการเกิดมาบนโลกนี้จะต้องทำคุณงามความดี ทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญจิตภาวนาเสียก่อนที่จะตายไป เพราะคุณงามความดีที่ทำนั้นจะหอมฟุ้งขจรไปทุกสารทิศและเป็นมงคลชีวิตที่จะทำให้เกิดความสุขความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต แม้ตายไปแล้วความดีก็ยังปรากฏอยู่ในโลกนี้
            ๑๕. การแปรรูปหรือการแปรธาตุ เชื่อกันว่า ผู้ตายจะได้กลับชาติไปเกิดใหม่ตามวิบากของกรรมของตนต่อไป อธิบายปริศนาธรรมว่า ร่างกายสังขารของมนุษย์ไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นและตายไปเป็นธรรมดา ความดับแห่งร่างกายสังขารย่อมนำสุขมาให้ และร่างกายนี้ไม่นานจะต้องทิ้งไว้บนแผ่นดินนี้ เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน อันหาประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งเป็นหนทางในการเจริญวิปัสสนาเพื่อเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
            ๑๖. การไว้ทุกข์ เชื่อกันว่า เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจอาลัยรักในการสูญเสียญาติที่เคารพรักและเป็นการแสดงออกไปให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อันเป็นลักษณะที่ดีงามของผู้เจริญ อธิบายปริศนาธรรมว่า เป็นการสอนคนให้พิจารณาเห็นว่าขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องทำความดี จะต้องเป็นคนดีที่มีศีลธรรมและจริยธรรม โดยวิธีการว่า “อยู่ให้เขารัก จากให้เขาคิดถึง และตายไปให้เขาเสียดาย”

สรุป
          ประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพของชาวพุทธในสังคมไทยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้ลูกหลานเห็นความดีของผู้ตาย ลูกหลานจะได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และต้องการสอนคนที่มาร่วมงานให้เข้าใจความจริงของชีวิตที่อยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์  ส่วนจิตวิญญาณสอนให้มีคุณธรรม ในการจัดงานพิธีศพนั้นลูกหลานควรจัดงานศพอย่างสร้างสรรค์ สืบสานวัฒนธรรม และเพิ่มพูนปัญญาธรรม พิธีกรรมในพิธีศพจึงมีลำดับขั้นตอนและแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมและคติธรรม เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้คิดพิจารณานำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ได้แก่ การอาบน้ำศพ การรดน้ำศพ การเอาเงินในปากศพ การมัดตราสัง การนำดอกไม้ธูปเทียนใส่มือศพ การเคาะโลงศพ การจัดอาหารให้ศพ การจุดตะเกียงหรือเทียนหน้าศพ การจุดธูปหน้าศพ การบวชหน้าไฟ การสวดพระอภิธรรม พระนำทาง การเวียนรอบเมรุ การใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ การวางดอกไม้จันทน์
การแปรธาตุหรือแปรรูป และการไว้ทุกข์





เอกสารอ้างอิง
พระครูกัลยาณธรรมโฆษ (รุ่ง กลฺยาโณ). ศึกษาคติธรรมจากประเพณีงานศพ : การณีศึกษาชุมชนบ้านตรวจ
            อำเภอคีรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
            มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๔.
พระครูพิพิธธรรมจักร (ทองอินทร์ รุ่งเรือง). “ศึกษาหลักปริศนาธรรมในพิธีบำเพ็ญศพของชาวตำบลน้ำเค็ม
            อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย”,  ธรรมทรรศน์ ๑๕, ๓ (พฤศจิกายน ๒๕๕๘- กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙) : ๖๗-
            ๗๕.
สุขพัฒน อนนทจารย์. ปริศนาปรัชญาธรรมในประเพณีการเพ็ญกุศลศพ. กรุงเทพมหานคร : ส.ลูกธรรมภักดี,
            ๒๕๕๒. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น