บทความวิชาการที่ ๑๒
โดย พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์
กลิ่นละมัย)
เรื่อง... การบูรณาการคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช
พระพุทธศาสนาในอาณาจักรนครศรีธรรมราชจากการศึกษาพัฒนาการในตอนต้น
ย่อมชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มีบทบาทมากในคาบสมุทรภาคใต้และสยามประเทศ แนวคิดพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เริ่มต้นที่เมืองนครศรีธรรมราชและได้เผยแผ่เข้าสู่เมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัยซึ่งได้หยั่งลึกลงไปในชุมชนเมืองทั้งสองก่อนที่จะแพร่กระจายไปสู่เมืองต่างๆ ในสยามประเทศอย่างกว้างขวาง
ลักษณะของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ภายในชุมชนชนเมืองนครศรีธรรมราชได้ปรากฏอย่างชัดเจนทั้งแนวคิดและพฤติกรรมของคนในสังคมที่ยึดถือคติความเชื่อพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เป็นหลักและยอมรับว่าเกาะลังกาเป็นเกาะแห่งธรรมที่เป็นศูนย์รวมของนักคิดนักปราชญ์ผู้คงแก่เรียนในพระธรรมวินัยและเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในขณะนั้น
อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในชุมชนเมืองนครศรีธรรมราชก็มิได้มีลักษณะเป็นพุทธศาสนาตามแบบดั้งเดิมของลังกา
แต่เกิดเป็นการผสมผสานแนวคิดความเชื่อพื้นเมืองในท้องถิ่นกับคติความเชื่อพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช
ดังนั้น
จึงสามารถพิจารณาลักษณะของพระพุทธศาสนาที่ได้รับแบบอย่างมาจากลังกาได้ต่อไปนี้
๑. คติความเชื่อที่เป็นแบบอย่างพระภิกษุลังกาในนครศรีธรรมราช
พระภิกษุในเมืองนครศรีธรรมราชได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางพระพุทธศาสนาทั้งในส่วนที่เป็นปริยัติธรรมและการปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างพระภิกษุในเกาะลังกา
ตลอดจนการเผยแผ่พุทธธรรมสู่วิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ซึ่งได้ทำให้เกิดแนวปฏิบัติกระทำสืบเนื่องกันมาจนกลายเป็นธรรมเนียมประเพณี เช่น การโอนทาน กรานกฐิน พิธีตามประทีป
พิธีอาสนบูชา การเทศนามหาชาติเวสสันดร การอุทิศถวายที่กัลปนา เป็นต้น
แนวคิดที่พระภิกษุจากเกาะลังกาถ่ายทอดสู่พระภิกษุในเมืองนครศรีธรรมราช
ได้ปลูกฝังเป็นจารีตประเพณีที่กำหนดการประพฤติปฏิบัติของบุคคลในชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์จึงไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมและคติความเชื่อเท่านั้น
แต่ได้ถูกหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับวิถีชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมชาวเมืองนครศรีธรรมราช
นับตั้งแต่การยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ได้เข้ามาเผยแผ่ในอาณาจักรนครศรีธรรมราช
พระสงฆ์เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำของชุมชนและสังคม
โดยยึดถือเกาะลังกาเป็นแม่แบบอย่างแห่งความถูกต้องที่สืบทอดกันมาจากชมพูทวีป แม้กระทั่งเครื่องแต่งกายของพระภิกษุคือไตรจีวรที่มีสีแดงก่ำที่ประกอบด้วยสบง
(ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) และสังฆาฏิ (ผ้าซ้อนนอกหรือผ้าพาด)
โดยมีรัดประคดหรือผ้าคาดเอวเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
เครื่องแต่งกายของพระภิกษุสงฆ์ก็ได้แบบอย่างมาจากพระภิกษุสงฆ์เกาะลังกา อีกทั้งสมณบริขารที่สำคัญของพระภิกษุสงฆ์คือ
ตาลปัตร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงประทานความเห็นว่าความคิดในการที่พระสงฆ์ถือตาลปัตรมาจากเกาะลังกา
ปรากฏเรื่องราวในพุทธประวัติที่มีพระพุทธรักขิตาจารย์ เขียนเรื่องปฐมโพธิขึ้นในเกาะลังกา
ตาลปัตรจึงนำมาเป็นเครื่องใช้ของพระสงฆ์
โดยเฉพาะการแสดงธรรมและการสวดต่างๆ โดยเฉพาะพิธีสวดพระปริตร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ เช่น
การขับไล่ภูตผีปีศาจ ไข้ยมบน โรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนใช้ในงานมงคลต่างๆ
ลักษณะโครงสร้างทางความคิดของพระภิกษุในอาณาจักรนครศรีธรรมราชและประชาชนก็นำเอาแบบอย่างพระภิกษุลังกาที่มุ่งการปฏิบัติเจริญธรรมสูงสุด เพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพาน
แนวคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในหมู่พระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี
ซึ่งปรากฏว่าชนชั้นสูงและประชาชนโดยทั่วไปจะได้รับการถ่ายทอดในรูปของพิธีกรรมต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการกัลปนา อุทิศที่ดิน
แรงงานสัตว์และสิ่งของให้กับวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อผลอานิสงส์ที่จะตอบสนองเป็นกุศลที่จะนำไปสู่พระนิพพานหรือการหลุดพ้น
โดยขอให้อานิสงส์ทั้งหลายได้ส่งให้ตนเองไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์เพื่อจะได้ฟังพระธรรมและบรรลุพระนิพพาน
คติความเชื่อ
พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ได้รับแบบอย่างภิกษุลังกาและนำมาผสมผสานให้เป็นความเชื่อท้องถิ่น
ดังนี้
๒.
คติความเชื่อการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
คตินิยมในการสร้างสถูปเจดีย์ในยุคนี้นิยมสร้างเป็นรูปแบบระฆัง
ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากลังกายังคงถือว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ในการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา อันเป็นเครื่องหมายแห่งการตั้งมั่นของพระพุทธศาสนาและความเจริญความบริสุทธิ์ของธรรมที่ถูกต้องในสังคม การสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารริกธาตุขึ้นเป็นศูนย์รวมความศรัทธาเป็นอานิสงส์แก่ผู้สร้าง
ผู้บูชาและเป็นประธานของพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนั้น เช่น พระปฐมเจดีย์
พระธาตุพนม พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พระธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว
พระธาตุวัดสวี เป็นต้น
เจดีย์รูปแบบลังกาเป็นสิ่งหนึ่งที่ชี้ชัดว่านครศรีธรรมราชได้รับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ด้วยอย่างหนึ่ง
เจดีย์รูปแบบลังกาหรือที่นิยมเรียกกันในสมัยปัจจุบันว่าเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงโอคว่ำ เหนือองค์ระฆังมีบัลลังก์และบนแกนกลางบัลลังก์มีกรวยยอดประดับปล้องไฉนเป็นชั้นๆ
บนปลายสุดกรวยยอดมีลูกแก้วประดับที่ยอดของเจดีย์
เจดีย์ทรงลังกานั้นมักจะประดับปล้องไฉนไว้เป็นจำนวนมาก เช่น
ลุวันเวลิเจดีย์ ในนครอนุราธปุระ
ประเทศศรีลังกาและพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
เป็นต้น
การสร้างเจดีย์ทรงลังกานอกจากการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังเป็นการประกาศหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกด้วย
เช่น ฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ หมายถึง อริยสัจจ์ ๔
ฐานที่เรียงกันสามชั้นหมายถึงไตรภูมิ
โดยความหมายขององค์พระเจดีย์ หมายถึง
พระพุทธศาสนาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งสามโลกหรือไตรภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ
และอรูปภูมิ มีอริยสัจจ์ ๔
เป็นธรรมข้อพิจารณาอันทำให้ผู้ปฏิบัติตามได้บรรลุถึงพระนิพพาน ส่วนปล้องไฉนบนส่วนยอดคือชั้นของภูมิฝ่ายสุคติอันเป็นไปของสัตว์ผู้ประพฤติชอบมีพระนิพพานเป็นยอดสูงสุด
๓.
คติความเชื่อการทำรูปช้างล้อมรองฐานพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
การทำรูปช้างล้อมรอบองค์ธาตุพระเจดีย์นั้นน่าจะมีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาพระพุทธศาสนา
เพราะว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันกับคติความเชื่อทางศาสนามาตั้งแต่สมัยโบราณและการทำแถวช้างประดับรอบฐานเจดีย์นั้นน่าจะมีคติมาจากช้างค้ำหรือช้างยืนแบบโลก
แบกจักรวาล จากคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ในเรื่องมหากาพย์รามยณะได้มีการกล่าวถึงเรื่องช้างค้ำจักรวาล โดยมีการกล่าวถึงช้างยืนแบกโลกหรือจักรวาลที่อยู่ใต้โลกประจำทิศ
๔ ทิศ มี ๔ เชือก เรียกว่า ช้างแห่งจักรวาล
ลักษณะรูปแบบของช้างค้ำที่ปรากฏในพระพุทธศาสนามีทั้งในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา
ส่วนเจดีย์ช้างล้อมในนครศรีธรรมราชนั้นได้รับอิทธิพลทางศิลปะของลังกาที่แพร่หลายเข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
ซึ่งได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในปลายพุทธศตวรรษที่
๑๘
ต่อมาได้ปรากฏเป็นเจดีย์แบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในกรุงสุโขทัย
ช้างล้อมรอบองค์เจดีย์เป็นคติความเชื่อของชาวลังกาว่าการทำช้างล้อมรอบองค์พระเจดีย์นั้นอาจจะได้คติมาจากการแห่เชิญพระบรมสารีริกธาตุที่เคยกระทำมาแต่โบราณ
การที่ใช้ช้างนั้นก็เพราะถือกันว่าช้างเป็นสัตว์ประเสริฐ แม้ในพงศาวดารของไทยก็เคยมีการกล่าวถึงการเชิญพระบรมสารีริกธาตุโดยช้างไปยังนครเชียงใหม่ จึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปและน่าจะเป็นเพราะคติดังกล่าวของชาวลังกา จึงได้ทำรูปช้างเทินพระเจดีย์เอาไว้ ดังนั้น
จึงได้รับการนำมาเผยแพร่ในนครศรีธรรมราชและประเทศไทยเป็นลำดับต่อมา
๔.
คติความเชื่อเกี่ยวกับการักษาพระธาตุ
คติความเชื่อการักษาพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุบนหาดทรายแก้ว เมื่อครั้งคณะธรรมทูตลังกานำพระบรมสารีริกธาตุฝังลง
ณ หาดทรายแก้ว ซึ่งก่อพระเจดีย์องค์เล็กๆ
สวมไว้และผูกกาภาพยนตร์รักษาพระบรมสารีริกธาตุ
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างเมืองบนหาดทรายแก้วและทรงขุดค้นหาพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนหาดทรายแก้ว
ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณสองร้อยกว่าปีคลื่นลมได้ซัดและพัดพาเอาทรายขึ้นทับถมเจดีย์องค์เล็กเดิมจนทรายเรียบเสมอกัน
พระพุทธคำเภียรและคณะสงฆ์ได้ออกสืบหาคนเฒ่าคนแก่ที่เคยอาศัยอยู่ที่บริเวณหาดทรายแก้วมาแต่เดิมให้ช่วยชี้แนะสถานที่ที่ฝังพระบรมสารีริกธาตุ
ครั้นเมื่อขุดลงไปก็ได้รับการขัดขวางจากกาภาพยนตร์
ซึ่งเกิดอาถรรพณ์ที่คณะทูตลังกาได้ทำเอาไว้
จึงต้องเที่ยวหาคนดีที่มีวิชาความรู้มาทำพิธีแก้จึงจะขุดพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาสมโภชและสร้างเจดีย์บรรจุไว้
กาภาพยนตร์ที่รักษาพระบรมสารีริกธาตุบนหาดทรายแก้วมี ๔ ฝูง คือ กาฝูงสีดำเรียกว่ากาเดิม
กาฝูงสีแดงเรียกว่ากาชาด กาฝูงสีขาวเรียกว่ากาแก้ว
และกาฝูงสีเหลืองเรียกว่าการาม
กาภาพยนต์ที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ทั้งสี่พวกต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มีวัดในพระพุทธศาสนาขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จันทรภานุศรีธรรมราช
ทรงกำหนดเขตพุทธาวาสบริเวณรายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์และจัดระเบียบคณะสงฆ์โดยการยึดเอานัยกาภาพยนต์ที่เคยรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ทรงแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ คือ
คณะกาเดิม คณะกาชาด คณะกาแก้ว และคณะการาม
สงฆ์หัวหน้าคณะเทียบที่สังฆราชของแต่ละคณะ
ซึ่งต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
จันทรภานุศรีธรรมราช ทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นมงคลนาม
ทรงแต่งตั้งเป็นสมณศักดิ์การักษาพระบรมธาตุเจดีย์ คือ
คณะกาเดิมห้วหน้าเป็นพระครูกาเดิม
คณะกาชาดหัวหน้าเป็นพระครูกาชาด คณะกาแก้วหัวหน้าคณะเป็นพระครูกาแก้ว
และคณะการามหัวหน้าคณะเป็นพระครูการามเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
๕. คติความเชื่อเกี่ยวกับพระนามของกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราช
คติความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรพระพุทธศาสนาหรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช ซึ่งมีพระนามว่า ศรีธรรมาโศกหรือศรีธรรมโศกราช
ตามที่ปรากฏพระนามอยู่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระนิพพานโสตร และเอกสารอื่นๆ นั้น
พระนามนี้เป็นตำแหน่งของกษัตริย์ผู้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์และปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราช
เพราะว่ากษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีอยู่หลายพระองค์ทั้งที่มีพระนามจริงอยู่แล้วเมื่อมาเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราชก็จะต้องเฉลิมพระนามใหม่ว่า
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชหรือพระเจ้าศรีธรรมโศกราชหรือศรีธรรมาโศกมหาราชอีก
จนกระทั่งพระนามศรีธรรมาโศกราชกลายเป็นพระนามจริงและพระนามเดิมของพระองค์ทรงหายไปก็มี ซึ่งกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราชปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ ในราชวงศ์เมารย
เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ก็ตั้งพระราชหฤทัยที่จะขยายอาณาจักรให้กว้างใหญ่ยิ่งออกไปตามเยี่ยงอย่างของพระเจ้าอัยกาและพระราชบิดาได้ประพฤติมาแต่ก่อน จึงได้ยกกองทัพไปตีประเทศกลิงคราฐหมายจะขยายราชอาณาเขตต่อลงไปทางฝ่ายอินเดียตอนใต้ แต่เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทำสงครามมีชัยชนะทรงได้ประเทศกลิงคราฐไว้ในอำนาจ พระองค์ทรงทราบว่าในการรบพุ่งกันในครั้งนั้น
พวกชาวกลิงคราฐถูกฆ่าพันตายเป็นจำนวนแสนกว่าคนทรงเกิดความสังเวชพระราชหฤทัย
ทรงปรารภว่าการที่พระมหากษัตริย์แสวงหาเกียรติยศและอาณาเขตด้วยการทำให้มนุษย์เดือดร้อนล้มตายอย่างนั้นก็ควรไม่ ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าอโศกมหาราชก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ทรงเลิกทำศึกสงครามขวนขวายแต่ในการที่จะบำรุงพระราชอาณาเขตโดยทางธรรม ต่อมาพระองค์ทรงได้พระนามใหม่ว่า
“พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช”
นครศรีธรรมราชในอดีตเคยมีชื่อเรียกว่า
เมืองปาฏลีบุตรหรือปาฏลีบุตรนครนั้นอาจจะมีมูลเหตุมาจากเหตุการณ์อันเกี่ยวกับการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระเจ้าอโศกมหาราชมากกว่า ซึ่งในหนังสือชื่อว่า
พุทธสถานในอินเดียโบราณกล่าวว่า
“...ปาฏลีบุตรเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิมคธ ตามหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน แสดงว่าพระเจ้าอโศกได้ทรงดำเนินกิจกรรม เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ทรงได้เริ่มกระทำที่เมืองปาฏลีบุตรเป็นครั้งแรก
พระองค์ทรงได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุที่ได้บรรจุไว้ในสถูปทั้งเจ็ดแห่งมาบรรจุไว้ในสถูปใหม่ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นทั่วพระราชอาณาจักรของพระองค์และสถูปแห่งแรกของพระองค์ก็สร้างขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร...”
การที่เมืองนครศรีธรรมราชมีชื่อว่าเมืองปาฏลีบุตรน่าจะเป็นเพราะเหตุนี้
เพราะว่าเมื่อนำพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้เฉลิมพระนามใหม่ว่า
“พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” มาเป็นพระนามของพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองนครศรีธรรมราชแล้วก็น่าจะเรียกเมืองเจ้าผู้ครองแคว้นแล้วก็น่าจะเรียกชื่อราชธานีของพระองค์ว่า
นครปาฏลีบุตรหรืปาฏลีบุตรนครได้เช่นเดียวกัน
ต่อมาก็นำเอาพระนามของกษัตริย์ผู้ปกครองมาเป็นชื่ออาณาจักรใหม่ว่า
“นครศรีธรรมราช”
ตำนานสุวรรณปุรวงศ์ ซึ่งเป็นตำนานของลังกาได้เรียกชื่อนครอันมีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองนั้นว่า
สุวรรณปุระ
ตำนานนี้ได้กล่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุวรรณปุระสืบพระวงศ์มาจากพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งเมารยวงศ์
(พระเจ้าแผ่นดินโบราณที่ไชยยาและนครศรีธรรมราช
จึงมีพระนามว่าศรีธรรมาโศก) พระเจ้าแผ่นดินวงศ์นี้มีพระนามเป็นพระพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้า มีพระนามเป็นพระโพธิสัตว์และมีพระนามเป็นเทวดา
เช่น พระศรีพุทธัสสะ คุณาอรรนพ
มาราวิชโยตุงค์ ไตรโลกยราช
พระอินทร์ พระวิษณุ และพระจันทรภาณุ
เช่นเดียวกันกับพระนามของกษัตริย์ลังกา
ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระนิพพานโสตร และเอกสารอื่นๆ
ได้กล่าวถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
เดิมอยู่ที่เวียงสระภายหลังได้โยกย้ายมายังหาดทรายแก้วเมืองนครศรีธรรมราช
เพื่อตั้งเมืองใหม่และขุดรื้อนำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้แล้วบรรจุพระบรมธาตุลงไว้สร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นมาและในลายแทงเจดีย์วัดแก้วไชยากล่าวว่า
“เจดีย์วัดแก้ว ศรีธรรมาโศกสร้างแล้ว แลเห็นเรืองรอง สี่เท้าเหยียบปากพะเนียงทอง ใครคิดต้อง กินไม่สิ้นเลย” ดังนั้น
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในตำนานต่างๆ ดังที่กล่าวมานั้นอันหมายถึงลูกหลานสืบเชื้อสายของพระเจ้าอโศกมหาราชหรือเป็นพระญาติอันเป็นแบบอย่างทางพระพุทธศาสนา
๖.
คติความเชื่อการสร้างรอยพระพุทธบาทนครศรีธรรมราช
คติความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทปรากฏหลักฐานในคัมภีร์มหาวงศ์ได้กล่าวถึงการบูชารอยพระพุทธบาทในลังกาทวีปนั้นเริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงประดับรอยพระบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ
เพื่อประทานให้เหล่าเทพประจำท้องถิ่นและวิญญาณธรรมชาติที่พิทักษ์รักษาลังกาทวีป
การประทับรอยพระบาทนี้เท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาที่มีต่อเทพเจ้า ซึ่งเป็นศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมในดินแดนลังกา
เขาสุมนกูฏเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่ามีเทพเจ้าพื้นเมืองและวิญญาณบรรพบุรุษพำนักอยู่บนภูเขา เมื่อเทพเจ้านามว่า “มหาสุมน”
ยอมรับพระบรมศาสดาและพระธรรมของพระองค์
รอยพระพุทธบาทที่ประทับบนเขาสุมนกูฏ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์บนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาในลังกา
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในอดีต
ซึ่งมีวิธีเผยแผ่ ๒ ลักษณะ คือ ๑.
การเผยแผ่ศาสนาของภิกษุอรัญวาสี
ซึ่งได้นำคณะจาริกไปตามภูมิประเทศเมื่อเห็นสถานที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญภรตรักษาศีลก็จะสร้างรอยพระพุทธบาทลงไว้เป็นเครื่องหมายว่าพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้มาถึงตำบลนั้นๆ
แล้วหรือเป็นการทำแผนที่หรือสัญลักษณ์
เพื่อให้เป็นเครื่องหมายไว้แก่ภิกษุรุ่นหลังจะได้เดินทางไปยังดินแดนนั้น การที่คณะจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้กระทำไว้ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุให้คนท้องถิ่นได้เล่าสืบต่อกันมาเป็นตำนานว่า
พระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่แห่งนั้นแห่งนี้ และ ๒.
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นใกล้สมัยพุทธกาล
ในครั้งที่สามารถหาพระบรมสารีริกธาตุได้เป็นจำนวนมาก
สมณทูตผู้เป็นหัวหน้ามักจะนำพระบรมสารีริกธาตุจำนวนหนึ่งติดตัวไปตามสถานที่ที่จะปรารถนาจะให้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ซึ่งมักจะเป็นเมืองที่มีความเจริญแล้วหรือเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ปกครองเป็นหลักฐานมั่นคง เมื่อชนในท้องถิ่นรับนับถือพระธรรมคำสอนดีแล้วจึงได้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเป็นศูนย์รวมความศรัทธาและเป็นประธานของพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนั้น
เช่น พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พระธาตุไชยา พระธาตุวัดเขียนบางแก้ว พระธาตุวัดสวี เจดีย์วัดเจดีย์งาม เป็นต้น
๗.
คติความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ
คติความเชื่อในการนับถือต้นพระศรีมหาโพธิ์ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการส่งเสริมและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
โดยถือเป็นเครื่องหมายแห่งการตรัสรู้และการสืบทอดพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ ในคัมภีร์อรรถกถาได้พรรณนาถึงปาฏิหาริย์ของพระศรีมหาโพธิอย่างมากมายเช่นนี้ย่อมแสดงถึงความสำคัญของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่จะทำให้พุทธบริษัทมีความเคารพนับถือต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นอย่างยิ่ง เช่น มีการยืนยันจากชาวพุทธในศรีลังกาว่าพระพุทธเจ้าเมื่อยังพระชนม์ชีพอยู่กับพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์หลังการดับขันธ์และต้นพระศรีมหาโพธิ์มีความสำคัญเสมอกัน เป็นต้น
นอกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์จะเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่เป็นบริโภคเจดีย์แล้ว
ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดพระพุทธศาสนาจากอินเดียสู่ลังกา
โดยการอัญเชิญหน่อของพระศรีมหาโพธิ์ของพระนางสังฆมิตตาเถรีพระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในพระพุทธศาสนา องค์ประกอบเหล่านี้ยิ่งทำให้คนลังกามีความเชื่อและความเลื่อมใสในต้นพระศรีมหาโพธิ์ดุจดังพระพุทธเจ้าและเชื่อในอานิสงส์ของการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา ทุกวันนี้ชาวพุทธในลังกาสวดภาวนารอบลานพระศรีมหาโพธิ์
บ้างปัดกวาดลานทราย บ้างทำสมาธิ
แนวคิดเหล่านี้คงส่งผลมาถึงประเทศที่รับอิทธิพลพระพุทธศาสนาจากลังกา ดังที่พระภิกษุเมืองนครศรีธรรมราชได้เดินทางไปบวชแปลงและศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา
ตอนกลับมาก็นำเอาหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกที่เมืองนครศรีธรรมราช ดังที่ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่า
พระมหามงคลเถระ (พระมหาเถรมงคล)
ได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ใส่อ่างทองพร้อมกับคณะพุทธบริษัทลงสำเภามาจากลังกามาสร้างวัดพลับและปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
(ทิศอุดร) ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
และกล่าว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างวัด เจดีย์
วิหาร พระพุทธรูปและปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ในเมืองนครศรีธรรมราชและเมื่อครั้งที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชยกทัพไปรบกับท้าวอู่ทองที่บางสะพาน
(บางตภาร) ตอนที่พระองค์ทรงยกทัพกลับเมืองนครศรีธรรมราช ทรงสร้างวัด ก่อเจดีย์
และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์มาตลอดทางจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช
ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
จึงเป็นที่นิยมปลูกขึ้นภายในวัดทั่งทั้งอาณาจักรนครศรีธรรมราชและดินแดนที่มีพระพุทธศาสนา
๘.
คติความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานที่อยู่หอพระพุทธสิหิงค์ ชาวนครศรีธรรมราชมีความเชื่อว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภานุขอมาจากกษัตริย์ลังกา เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ในลังกา
สิงคนิทานได้กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในลังกา เมื่อปี พ.ศ. ๗๐๐ ชาวสิงหลกับพระอรหันต์ ๒๐
องค์ใคร่อยากจะเห็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนานี้ทราบถึงพระยานาคตนหนึ่งก็ทูลรับอาสาเนรมิตพระพุทธเจ้าถวายทอดพระเนตรให้พระอรหันต์ชม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเหนือรัตนบัลลังก์ สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ เป็นที่บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
จึงสร้างพระปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้า
หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์ด้วยทองสัมฤทธิ์ถวายนามว่า พระพุทธสิหิงค์
ซึ่งมีความหมายว่าทรวดทรงอวัยวะทั้งปวงลม้ายคล้ายราชสีห์ ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ยังปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ทูลขอพระพุทธสิหิงค์กับกษัตริย์ลังกา
เพื่อถวายตามพระราชประสงค์ของพ่อขุนรามคำแหงทรงได้นำมาประดิษฐานที่เมืองนครศรีธรรมราชและนำไปประดิษฐานในอาณาจักรสุโขทัย ส่วนตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่า
พระสิหิงค์เสด็จมาจากเมืองลังกาล่องน้ำมาทะเลมาถึงเกาะปีนังและเสด็จมาถึงหาดทรายแก้วเมืองนครศรีธรรมราช
พระพุทธสิหิงค์จึงเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณที่ได้รับความนับถือสูงสุดองค์หนึ่ง
ความเชื่อความศรัทธาและการนับถือพระพุทธสิหิงค์ในนครศรีธรรมราช จึงได้มีการสร้างพระพุทธสิหิงค์ตลอดมา
การสร้างพระพุทธสิหิงค์จึงเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์อีกแบบหนึ่งหรือพระพุทธสิหิงค์เป็นพุทธสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในอาณาจักรนครศรีธรรมราชและบริเวณใกล้เคียง
๙.
คติความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าชายทันตกุมาร เจ้าหญิงเหมชาลาและพระเขี้ยวแก้ว
ชาวพุทธในนครศรีธรรมราชมีความเชื่อว่าเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมชาลาได้อัญเชิญพระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์มาประดิษฐานในองค์พระบรมธาตุเจดีย์บนหาดทรายแก้ว ดังที่ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและพระนิพพานโสตรดังกล่าว
ซึ่งในมหาปรินิพพานสูตรกล่าวว่าพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่งเทวดาชั้นดาวดึงส์บูชา อีกองค์หนึ่งอยู่ในคันธารปุระ อีกองค์หนึ่งอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะและอีกองค์หนึ่งพระยานาคบูชากันอยู่ พระเขี้ยวแก้วเป็นพระธาตุสำคัญ เพราะคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่าเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าแล้วมีพระธาตุ
๗ ส่วนที่มิได้กระจาย คือ พระเขี้ยวแก้ว ๔
องค์ พระรากขวัญ ๒ องค์และพระอุณหิส ๑
องค์ นอกนั้นกระจัดกระจาย พระธาตุเล็กๆ มีขนาดเท่าพันธุ์ผักกาด ขนาดใหญ่เท่าเมล็ดข้าวสารหักกลางและขนาดใหญ่ยิ่งมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวหักกลาง
คัมภีร์ทาฐาธาตุวงศ์กล่าวว่าพระเจ้าคุหสิวะกษัตริย์แห่งนครทันตบุรี
แคว้นกาลิงคะ ทรงครบครองดูแลกราบไหว้พระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์ ในกาลต่อมาเจ้าชายทันตกุมาร พระราชโอรสของกษัตริย์นครอุชเชนีเสด็จไปทันตปุระเพื่อจะบูชาพระทันตธาตุ
พระเจ้าคุหสิวะทรงมีพระธิดาพระองค์หนึ่งพระนามว่าเหมชาลา
ทรงเห็นว่าพระทันตกุมารประกอบด้วยธรรมสมควรแก่วงศ์ตระกูลจึงทรงยกพระราช
ธิดาให้และทรงมอบหน้าที่ให้ช่วยกันรักษาพระทันตุธาตุไว้
ภายหลังมีพระกุมารพระองค์หนึ่งได้เสด็จพร้อมไพร่พลจำนวนมากยกทัพประชิดเมืองเพื่อทำสงคราม
พระเจ้าคุหสิวะจึงรับสั่งให้เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมชาลาแปลงเป็นพราหมณ์อัญเชิญพระทันธาตุไปที่ลังกาทวีป
เนื่องจากเห็นว่าในลังกาทวีปมีพระธาตุของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองอีกทั้งภิกษุก็มีจำนวนมาก
พระเจ้ามหาเสนผู้เป็นพระสหายก็เคยส่งคนมาบูชาพระทันตธาตุ
ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จออกรบและสิ้นพระชนม์ในสนามรบ
พระกุมารพร้อมทั้งพระชายาได้อัญเชิญพระทันตุธาตุขึ้นเหนือเศียรเดินทางไปถึงท่ามลิตติแล้วลงเรือไปสู่ลังกาทวีปพร้อมกับพ่อค้าทั้งหลายจนถึงท่าลังกายัฏฏนะ เข้าไปไหว้พระสังฆราชในมหาวิหาร
พระเถระจึงไปแจ้งข่าวพระทันตธาตุแก่พระเจ้าสิริเมฆวรรณะ
พระราชาทรงทราบข่าวแล้วทรงบังเกิดปีติเป็นอย่างยิ่ง พระองค์เสด็จไปรับพระทันธาตุที่เมฆศิริมหาวิหารทรงบูชาพระทันตธาตุ
พระราชทานทรัพย์และฐานันดรแก่เจ้าชายและเจ้าหญิงเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นทรงเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วด้วยราชรถที่ซุ้มประตูเมืองอนุราธปุระด้านทิศเหนือตรงสถานที่พระมหินทเถระเคยแสดงธรรมและอัญเชิญพระทันตธาตุไปประดิษฐานในพระราชวัง
เมื่อทรงสร้างอภยุตตรวิหารเสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระทันธาตุไปประดิษฐาน ทรงประกาศพระราชโองการให้มีการฉลองบูชาพระทันธาตุทุกปีสืบทอดเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีความคล้ายคลึงกันโดยมีใจความว่าเมืองทนธบุรี
ซึ่งมีกษัตริย์ชื่อท้าวโกสีหราชได้ครอบครองพระทันตธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั้น ซึ่งมีกษัตริย์เมืองอื่นมารบเพื่อแย่งชิงพระทันตธาตุ
เจ้าชายทนธกุมารและเจ้าหญิงเหมชาลาสองพี่น้องได้อัญเชิญพระทันตธาตุหลบหนีออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังเกาะลังกา แต่เรือประสบอุบัติเหตุล่มลงกลางทะเล
กษัตริย์สองพี่น้องได้ลอยมาติดชายฝั่งและเดินเท้ามาจนพบกับหาดทรายแก้ว จึงได้ทำการฝังพระบรมสารีริกธาตุไว้
ต่อมากษัตริย์สองพี่น้องได้พบกับพระมหาเถรพรหมเทพ
ซึ่งได้ทำนายไว้ว่าภายหน้าที่บริเวณหาดทรายแก้วนี้จะมีกษัตริย์ชื่อพระยาศรีธรรมาโศกราชมาสร้างเมืองและพระธาตุเจดีย์ ต่อมาพระมหาเถรพรหมเทพก็จากไป ส่วนเจ้าชายและเจ้าหญิงได้ขุดพระทันตธาตุขึ้นมาและนำกลับไปยังเกาะลังกา
เมื่อเดินทางไปถึงเกาะลังกาจึงมอบพระทันธาตุให้แก่กษัตริย์ลังกา
พระราชาทรงได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุกลับมาให้จำนวนหนึ่ง
เพื่อให้นำไปบรรจุในเจดีย์ที่หาดทรายแก้วดังเดิม
เนื้อความของตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและพระนิพพานโสตรนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ศรีลังกา
ในรัชกาลของพระเจ้าสิริเมฆวรรณะในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ ต่อมาราวปี พ.ศ. ๑๗๔๐–๑๗๔๓ พระธรรมกิตติมหาเถระได้แปลคัมภีร์ทาฐาธาตุวงศ์จากภาษาสิงหลเป็นภาษามาคธีในรัชสมัยของพระราชินีลีลาวดี ต่อมาปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระภิกษุชาวลังกาได้นำพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากเกาะลังกามาเผยแผ่และสร้างพระบรมธาตุเจดีย์แบบลังกาขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้วผูกตำนานเป็นเรื่องเล่าเหตุการณ์จริงในเกาะลังกามาสู่เมืองนครศรีธรรมราช
เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาที่มาจากลังกานั้นได้เผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้ซึ่งได้มีการยอมรับนับถือกันอย่างแพร่หลาย
และต่อมาในสมัยอยุธยาได้นำเอาคติความเชื่อเรื่องเจ้าชายทันตกุมารมาสร้างเป็นพระพุทธรูปพระทันตกุมาร เป็นพระพุทธรูป ทรงเครื่องปางประทานอภัย
ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าวิหารธรรมศาลาและนำเอาคติความเชื่อเจ้าหญิงเหมชาลามาสร้างเป็นพระพุทธรูปพระนางเหมชาลา
เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ
ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารคดด้านหลังวิหารธรรมศาลา
๑๐.
คติความเชื่อเกี่ยวกับบารมีธรรม
แนวคิดในเรื่องบารมีธรรมตามแนวคิดของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาหลายสมัยทั้งในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ปกรณ์พิเศษอื่นๆ ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญธรรม โดยเฉพาะอรรถกถาบาลีจากลังกาทวีปที่เข้ามาเผยแผ่ในนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ อรรถกถาบาลีเดิมพระมหินทเถระนำเข้ามาในลังกาทวีป
ได้มีการแปลอรรถกถาบาลีเป็นภาษาสิงหลและคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งมีการจารเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลาน เช่นเดียวกับพระสงฆ์ชาวสยามที่เอาแบบอย่างจากการจารคัมภีร์ลงใบลานเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
มหานิบาตชาดกเป็นชาดกที่แสดงถึงเรื่องบารมีธรรม แพร่หลายมาจากลังกาทวีป
ถือเป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่พระภิกษุนิยมถ่ายทอดเพื่อประโยชน์ในการสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง
เมืองนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ในฐานะพระเจ้าห้าร้อยชาติ ดังเช่นความนิยมที่ปรากฏการสร้างภาพชาดกเหล่านี้ประดับไว้ที่ฐานสถูป
ฝาผนังอุโบสถ วิหาร เป็นต้น เพื่อให้เป็นที่สักการะของคนในชุมชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและการเทศน์มหาเวสสันดรชาดก
(เทศน์มหาชาติ)
พระสงฆ์ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างลังกาก็จะนำเอาคติความเชื่อนี้เข้ามาเผยแผ่ทั้งในการสื่อธรรมด้วยศิลปกรรมและการแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่โดยทั่วไป
ความสำคัญของมหานิบาตชาดกที่มีต่อการรับรู้ของประชาชนเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชุมชน
นอกจากพระสงฆ์จะทำหน้าที่สื่อธรรมในรูปนิทานชาดกก็ยังมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ลูกหลานฟัง แม้จะเป็นผลพลอยได้เพลิดเพลินหย่อนใจ
ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกรวมกันของผู้คนในสังคม เช่น การสวดด้าน สารทเดือนสิบ
เทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก เป็นต้น เป็นการอุทิศส่วนกุศลเพื่อสร้างบุญบารมีอย่างต่อเนื่อง
คติความเชื่อเกี่ยวกับสั่งสมบารมีตามแนวของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ดังคำกล่าวว่า
“ในชั่วชีวิตสักครั้งหนึ่งขอให้ได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุก็ถือเป็นบุญยิ่งใหญ่ด้วยแรงศรัทธามีแก้วแหวนเงินทองติดตัวมาก็ถอดถวายแด่องค์พระธาตุด้วยหัวใจเปี่ยมสุข” การสร้างการซ่อมพระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์ราย พระพุทธรูป วิหารต่างๆ
และทองคำที่หุ้มปรียอดพระธาตุเจดีย์มีจารึกว่าเป็นการสร้างบารมีขอให้เกิดทันศาสนาพระศรีอาริย์เมตไตรหรือพระศรีอาริย์
และจารึกบนหัวระฆังสัมฤทธิ์ จารึกหลัก น.ศ. ๑๑ (น.ศ.พิเศษ) วัดคงคาวดี
อำเภอท่าศาสลา จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า
สมภารวัดคงคาวดีได้สร้างระฆังร่วมกับพระสงฆ์และทายกทายิกา ข้าพเจ้าเกิดภพใดขอให้ยินดีในยศศักดิ์ ศีล ธรรม
มีผิวพรรณผ่องใส มีโภคทรัพย์ มีอาหารที่ดีได้รับประทาน
และขอให้ข้าพเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
เป็นต้น
๑๑.
คติความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม
คติความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม
จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ได้แสดงถึงลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
เพื่อต้องการให้ผู้คนผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้ประกอบแต่กรรมดีละเว้นกรรมชั่วด้วยการทำบุญให้ทาน
รักษาศีลและเจริญจิตภาวนา
แนวคิดและหลักธรรมเรื่องกรรมของพระพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ซึ่งหลักธรรมคำสอนได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งในพระไตรปิฎก
อรรถกถา และฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ปกรณ์พิเศษอื่นๆ
ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม
เมื่อพระภิกษุได้นำพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาเผยแผ่ในเมืองนครศรีธรรมราชก็มุ่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม ดังที่ผู้คนภายในอาณาจักรนครศรีธรรมราชได้มีคติความเชื่อเรื่องบุญกรรมมาตั้งแต่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้ามาสู่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึงปัจจุบัน
ผู้คนภายในอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีความเชื่อว่ากษัตริย์ผู้ปกครองนครศรีธรรมราช
ดังเช่นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์และทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช
เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนตกุมารผู้นำพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานบนหาดทรายแก้วเป็นผู้มีบุญหรือผู้มีบุญมาเกิด
ส่วนประชาชนผู้อาศัยอยู่ในเมืองหลวงและเมืองสิบสองนักษัตรเป็นผู้มีบุญน้อยจึงต้องมั่นทำคุณงามความดี
สั่งสมบุญทานการกุศล
ส่วนผู้ที่ประสบเคราะห์ร้ายเป็นผลไม่ดีของกรรมในอดีตที่ผ่านมา เช่น
คนเดินทางถูกสัตว์กัดตายหรือคนนั่งเรือไปในทะเลเรือล้มจมน้ำตายหรือถูกพายุพัดเรือล่มตาย
เป็นต้น
อุบัติเหตุเหล่านี้ผู้คนภายในอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีความเชื่อว่าเป็นกรรมเก่าของพวกเขาในอดีต
และในขณะเวลาเดียวกัน
ถ้ามีคนไปลักขโมยหรือปล้นจี้ถูกจับได้ขังคุก คนทั้งหลายมีความเชื่อและปลอบใจว่าเจ้าจงก้มหน้ารับกรรมไปเถอะนะ
เราทำมาไม่ดี เป็นต้น
๑๒.
คติความเชื่อเกี่ยวกับอันตรธาน ๕ ประการ
คติความเชื่อที่ว่าพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักดำรงอยู่นับแต่ภายหลังมหานิพพานไปจนถึง ๕,๐๐๐ ปี
ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานในครั้งพุทธกาลว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพุทธพจน์ทรงทำนายไว้ แต่ได้ปรากฏหลักฐานอยู่ในอรรถกถาภาษาบาลี
ซึ่งมีจุดหมายในการเขียนเพื่อผดุงปริยัติศาสนาหรือการศึกษาในพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่และพัฒนาจนถึงขีดสุด
พุทธศาสนิกชนชาวเมืองนครศรีธรรมราชและชาวเมืองสิบสองนักษัตรยึดถือคติความเชื่อตามแบบอย่างลังกา
คติความเชื่อเกี่ยวกับอันตรธาน ๕ ประการ คือ ๑. อธิคมอันตรธาน ความเสื่อมสูญแห่งการตรัสรู้มรรคและผล ๒. ปริยัติอันตรธาน
ความเสื่อมสูญแห่งปริยัติ ๓. ปฏิบัติอันตรธาน
ความเสื่อมสูญแห่งการปฏิบัติ ๔.
ลิงคอันตรธาน
ความเสื่อมสูญแห่งเพศพรหมจรรย์ ๕.
พระธาตุอันตรธาน ความเสื่อมสูญแห่งพระธาตุ คติความเชื่อนี้ปรากฏชัดเจนในตำนานมูลศาสนา
อันตรธาน ๕ ประการนี้จะเกิดขึ้นตามลำดับในทุกๆ
หนึ่งพันปีจนครบห้าพันปี
เมื่อครบห้าพันปีพระบรมธาตุทั้งหลายจากโลกมนุษย์ เทวโลกและนาคพิภพจะเสด็จมาสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ทั้งหมดแล้วรวมตัวกันเป็นรูปของพระพุทธองค์ ทรงประดิษฐาน ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประหนึ่งว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ลำดับนั้นเตโชธาตุก็เกิดขึ้นที่พระสารีริกธาตุเผาผลาญพระบรมธาตุจนหมดสิ้นสูญหายไปจากโลก
เรียกว่า “พระบรมธาตุนิพพาน”
อาณาจักรนครศรีธรรมราชรับเอาคติความเชื่อนี้มาจากพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์แล้วเผยแผ่คติความเชื่อนี้จึงได้ส่งผลให้ผู้ปกครองอาณาจักร พระภิกษุและประชาชน
มีความคิดที่จะทำหน้าที่ในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา
ขณะเดียวกันนิทานพระพุทธสิหิงค์ที่แต่งโดยพระโพธิ์รังสีที่มุ่งให้เกิดศรัทธาที่มีต่อการสร้างพระพุทธรูปที่ได้นำมาจากลังกาเรียกว่าพระพุทธสิหิงค์ ทรงมอบพระศาสนาอันประเสริฐไว้กับพระพุทธรูปตลอด
๕,๐๐๐ ปี
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะเผยแผ่และเจริญรุ่งเรืองในดินแดนอื่นๆ
สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อจากลังกา
ดังจะเห็นได้จากข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและพระนิพพานโสตรกล่าวว่ากษัตริย์ศรีธรรมาโศกราชให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์โดยการบวชกุลบุตร สร้างวัด
สร้างพระพุทธรูปอุทิศถวายที่กัลปนาและพระราชทานข้าพระโยมสงฆ์
ทรงให้เจ้าเมืองสิบสองนักษัตรมาร่วมสร้างซ่อมบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ วิหารต่างๆ
และให้เจ้าเมืองเหล่านั้นส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองทองบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ตลอดจนให้เข้าร่วมในพิธีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองนครศรีธรรมราช
เพื่อจะได้เรียนรู้พิธีกรรมและนำไปเผยแพร่ที่บ้านเมืองของตนเอง ซึ่งเป็นการตื่นตัวในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและการแข่งขันกับขยายอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรนครศรีธรรมราชในช่วงพุทธศตวรรษที่
๑๘-๑๙ จึงสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปีและอันตรธานทั้ง ๕
ประการจึงทำให้กษัตริย์
ขุนนางและประชาชนมีความวิตกกังวลกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา
จึงให้มีการทำนุบำรุงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาได้ปรากฏมีการสร้างวัดเป็นจำนวนมากในอาณาจักรนครศรีธรรมราช สร้างหอไตรเก็บพระไตรปิฎก สร้างพระพุทธรูป
พระพิมพ์เป็นจำนวนมากและศาสนาวัตถุต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการกัลปนาอุทิศที่ดิน คนสัตว์ และทรัพย์สินสิ่งของจำนวนมากให้กับวัดภายในชุมชน
เพื่อมุ่งหวังให้พระพุทธศาสนาสืบทอดตลอด ๕,๐๐๐ ปี
บรรณานุกรม
ดนัย
ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์, ๒๕๕๕, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา,
กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ธรรมทาส พานิช, ๒๕๔๒, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย,
พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์อรุณวิทยา.
ประพัฒน์
ตรีณรงค์, ๒๕๔๗, “ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช
ตอนที่ ๒”, วารสารไทย, ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๙๐
(เมษายน-มิถุนายน)
:
๒๙-๓๐.
สถาพร อรุณวิลาศ, ๒๕๓๙, คติความเชื่อพุทธศาสนาแบบลังกากับวิถีชีวิตชุมชนเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย,
ปริญญานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต,
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.
สุรพล ดำริห์กุล, ๒๕๔๕, รายงานวิจัยเรื่องเจดีย์ช้างล้อมกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทย,
เชียงใหม่ :
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น